...

รับว่าความ คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีทั่วไป รับทำบัญชี ทั่วราชอาญาจักร
ติตต่อ เบอร์โทร 0-2513-1833
แฟกซ์ 0-2930-2752
อีเมล์แอดเดรส
sutthirojlaw@hotmail.com

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

บทบาทของศาลยุติธรรมกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม

บทบาทของศาลยุติธรรม กับกฎหมายสิ่งแวดล้อม

Author : ภัทรศักดิ์ วรรณแสง*

Quelle : BioLawCom

Category : บทความกฎหมาย

Publisher : BioLawCom

บทความกฎหมาย บทความกฎหมาย

บทบาทของศาลยุติธรรมกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม

(The Role of the Court of Justice and the Environmental Law )

บทนำ

คำว่า “สิ่งแวดล้อม” (Environment) ทั้งคำในภาษาอังกฤษกับ คำในภาษาไทยต่างก็มีความหมายตรงกัน กล่าวคือ คำว่า “Environment” หมายความตามตัวอักษรว่า “that which surrounds” เช่นเดียวกับคำว่า “สิ่งแวดล้อม” ในภาษาไทย

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวว่า

“สิ่งแวดล้อมคือทุกสิ่งที่ไม่ใช่ตัวฉันเอง: the environment is everything that is not me”1

ตามกฎหมายแคนาดา Canadian Environmental Protection Act 1988 ให้ความหมายว่า ซึ่งเป็นความหมายที่เข้าใจได้ง่ายๆว่า สิ่งแวดล้อม ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่ตัวเราแต่อยู่รอบๆตัวเรานั่นเอง

“สิ่งแวดล้อม หมายถึง ส่วนประกอบของโลก และรวมถึงอากาศ พื้นดิน และน้ำ บรรยากาศทุกชั้นอินทรีย์และ อนินทรีย์สารและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และระบบทางธรรมชาติที่รวมส่วนประกอบข้างต้นทั้งหมดด้วย” สำหรับประเทศออสเตรเลียนั้นมี Environmental Protection Act 1974 ให้ความหมายว่า หมายถึง “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ล้อมรอบมนุษย์ซึ่งไม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์แต่ละคนหรือต่อกลุ่มชนที่รวมกันอยู่ในสังคม ก็ตาม”

สำหรับในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ บัญญัติว่า

“สิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งต่างๆที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ซึ่งเกิดโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น” 2

และตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ให้ความหมาย “สิ่งแวดล้อม”ว่าหมายถึง

"สิ่งต่างๆทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมที่แวดล้อมมนุษย์อยู่”

ตามปฏิญญาในการประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่กรุงสต็อกโฮล์ม (Declaration of the United Nations Conference on the Human Environment, 1972) สรุปใจความสำคัญได้ว่า

มนุษย์เป็นทั้งผู้พึ่งพา (creature) และผู้สร้าง (moulder) สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตนเอง สิ่งแวดล้อมทำให้มนุษย์มีสติปัญญา ศีลธรรม มีสังคมและมีความเจริญทางจิตใจ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วทำให้มนุษย์มีวิธีการหลายหลากวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว และไม่อาจคาดหมายได้ สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นสิ่งสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี การพิทักษ์ (protection) และการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่(duty)ของรัฐบาลทุกประเทศ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา ๗๙ บัญญัติว่า

รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมทั้งมีส่วนร่วมในการส่งเสริมบำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน
ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์และ

พิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม แต่การพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้เลย หากไม่มีกฎหมายเป็นรองรับ

ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๙เกี่ยวกับนโยบายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ

ประการแรก ต้องการให้มีระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เน้นความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส เกิดผลในทางปฏิบัติโดยให้ประชาชน ชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นมีส่วนร่วมและรับผิดชอบการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัตถุประสงค์

ประการที่สอง คือ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีสมดุล มีการควบคุมที่ดี เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิต ให้มีการจัดการเมืองและชุมชนน่าอยู่และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน 3 จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่๙ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ของต้องห้ามมิให้แตะต้อง หรือใช้ประโยชน์ แท้จริงแล้วทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนี้ ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ขอแต่เพียงใช้อย่างฉลาดและขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันบำรุงรักษาและสร้างขึ้นใหม่ มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยอาจมีทะเลทรายเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็เป็นได้

เมื่อกล่าวถึง “กฎหมายสิ่งแวดล้อม” แล้วย่อมหมายความถึง กฎหมายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศและกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศหมายถึงกฎหมายที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของรัฐซึ่งเกิดจากฉันทามติ (Consensus) ระหว่างรัฐต่าง ๆ เพื่อจุดประสงค์ที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรแบบยั่งยืน (resource conservation and sustainable use) ด้วยเหตุผลที่ว่าทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเป็นสมบัติของมนุษยชาติ ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง การที่ประเทศหนึ่งไม่ใส่ใจไยดีในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะที่ประเทศอื่นๆดูแลอย่างเคร่งครัด

นอกจากจะทำให้ประเทศที่ละเลยสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังมีผลกระทบไปยังประเทศใกล้เคียงและอาจมีผลไปทั่วโลกดังเช่นโอโซนในชั้นบรรยากาศของโลก

ปัจจุบัน มีแนวโน้มลดลงจนเกิดภาวะเรือนกระจก (emission of greenhouse effect) อันเกิดจากการที่หลายๆประเทศมีการเผาทำลายขยะมีพิษ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน คลอโรฟูลโลคาร์บอนเป็นควันพิษที่ไม่อาจระบายสู่ชั้นบรรยากาศได้หรือการที่เรือเดินทะเลปล่อยของเสียในน่านน้ำสากล เป็นต้น

กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศมักจะอยู่ในรูปของอนุสัญญา (conventions) พิธีสาร (protocols) และแนวปฏิบัติที่มีลักษณะเป็นsoft law เช่นแถลงการณ์ร่วม(declarations) 4 และบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาก็ใช้มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมในการคว่ำบาตรสินค้าชนิดที่ได้มาโดยการทำลายสิ่งแวดล้อมและหากประเทศใดมีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงก็จะถูกคว่ำบาตรทางการค้าทั้งหมด5

ส่วนกฎหมายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศนั้นหมายถึงกฎหมายภายในของรัฐต่างๆซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ควบคุมป้องกันมลพิษ ส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมมีผลทำให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ซึ่งกฎหมายภายในดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายปกครองหรือกฎหมายมหาชน

ในปัจจุบันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ อัตราการเกิดประชากรของโลกมีแนวโน้มสูง อัตราการมีอายุมากเพิ่มมากขึ้น อัตราการตายลดลง ขณะเดียวกันประชาชนยังคงต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมที่อุดมสมบูรณ์มั่งคั่ง (Prosperity) ต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น และดีขึ้น ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี เราคงไม่อาจแสวงหาทรัพยากรจากโลกอื่นได้ หากมีการใช้ทรัพยากรหรือรักษาสิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้บริหารจัดการให้ดี แล้ว นับวันก็มีแต่ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดและสิ่งแวดล้อมจะสิ้นสลายไป ชนรุ่นหลังจะอยู่กันได้อย่างไร

เมื่อกล่าวถึงสิ่งแวดล้อมย่อมหมายถึงประโยชน์หรือสมบัติของสังคมส่วนรวม แต่เมื่อกล่าวถึงการใช้หรือหาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมก็มักจะคิดถึงผลประโยชน์ของปัจเจกชน การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมไม่อาจสำเร็จได้โดยลำพังของคนๆเดียวหรือรัฐๆเดียว

เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ การที่คน ๆ หนึ่ง หรือประเทศ ๆ หนึ่งมุ่งมั่นที่จะปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่คนอื่น ๆ หรือประเทศอื่น ๆ มุ่งมั่นแต่จะทำลาย หรือเพิกเฉย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมย่อมไม่มีทางสำเร็จได้ การทำความเข้าใจปลุกจิตสำนึกของคนทุกคนในสังคม หรือรัฐบาลทุกประเทศให้ร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และการที่สิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวพัน ทั้งตัวบุคคลทั่วโลกและพื้นที่ทั่วโลกทั้งบนดิน ใต้ดิน น้ำ และอากาศ สัตว์และพืชทั่วโลกรวมทั้งการอยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และสัตว์ จึงทำให้ต้องมีกฎหมาย สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศและกฎหมายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศตามความหมายดังกล่าวแล้ว

อำนาจอธิปไตยในรัฐๆหนึ่งที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วย อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ สถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามล้วนแต่มีบทบาทที่สำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวคือฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ในการออกกฎหมายที่พิทักษ์สิ่งแวดล้อม และดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ในการใช้อำนาจทางปกครองให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายตุลาการมีหน้าที่ตีความ บังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและวางบรรทัดฐานของกฎหมายสิ่งแวดล้อม การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายล้วนแต่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นกฎหมายพิเศษที่ต้องร่าง ใช้ ตีความและบังคับการโดยหลักการและวิธีการที่เป็นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายทั่วไป

ข้อที่น่าพิจารณาประการหนึ่ง คือ เมื่อกล่าวถึง “สิ่งแวดล้อม” เรามักจะคิดถึงกลุ่มองค์กรเอกชน(NGO)ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักที่มีทั้งอำนาจ และหน้าที่โดยตรงในการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมักจะถูกเพ่งเล็งว่า อุตสาหกรรมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนฝ่ายที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็จะถูกมองว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เช่น การคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม เขื่อน การวางท่อก๊าซ การสร้างเส้นทางคมนาคมต่างๆ เป็นต้น

ทั้งที่การบริหารจัดการเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมที่ดีสามารถไปด้วยกันได้กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้ว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่จะออกตามความต้องการและ คำแนะนำที่มาจากทั้งฝ่ายสังคมที่นิยมสิ่งแวดล้อม(Environmentalist community)และฝ่ายนักธุรกิจ6

ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีรายละเอียดหลายประการซึ่งมีข้อหนึ่งที่สำคัญคือรัฐจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในการกำกับควบคุมและตรวจสอบ ให้มีบทลงโทษที่รุนแรง ในบทความนี้จะกล่าวถึงบทบาทของศาลยุติธรรมที่เป็นอยู่ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจำกัด และบทบาทของศาลยุติธรรมที่ควรจะเป็นในเงื่อนไขและข้อเสนอที่ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นมาตรการ

รองรับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเพื่อควบคุมดูแลการใช้ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทิศทางที่เหมาะสม ก่อนที่ประเทศไทยจะไม่หลงเหลือสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกต่อไป กฎหมายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศเป็นเครื่องมือของสังคมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ ในขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความเป็นธรรมแก่ปัจเจกชน

ความเป็นมาของกฎหมายสิ่งแวดล้อม

ในประเทศอังกฤษในปี ค.ศ.๑๒๗๓ กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ ๑ ออกพระบรมราชโองการห้ามเผาถ่านหินในบริเวณที่กำหนด ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษโดยมีมาตรการต่างๆที่จะปกป้องคุ้มครองสุขภาพประชาชน ประเทศอังกฤษได้ชื่อว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมประเทศแรกที่มีระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่ที่สุด เช่น Public Health Act 1848, Alkali Act 1863, Town and Country Planning Act 1947

ต้นกำเนิดของกฎหมายสิ่งแวดล้อมมิได้เกิดขึ้นเพราะต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากแต่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน(intend to safeguard public health rather than the environment) แต่ก็มีผลทางอ้อมที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อม ระบบกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์โดยตรงที่จะปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ.1974 เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติควบคุมมลพิษ (Control of Pollution Act 1974:COPA) ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติพิทักษ์สิ่งแวดล้อม(Environmental Protection Act: EPA):ซึ่งยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ข้อที่น่าสังเกตคือEPAเป็นกฎหมายแม่บทกำหนดให้มีการออกกฎหมายรองเพื่อกำหนดมาตรการขั้นพื้นฐานในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจนกว่าสังคมจะได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีในทศวรรษหน้า กฎหมายที่ออกตามมาได้แก่ Noise and Statutory Nuisance Act 1993, Water Act 1989, Water Resources Act 1991 และWater Industrial Act 19917

สำหรับประเทศไทย ก่อนปี พ.ศ.๒๕๑๘ประเทศไทยมิได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวมโดยตรง แต่ก็มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยกฎหมายเหล่านั้นแต่ละฉบับมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในบางเรื่อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลักของหน่วยงานที่ใช้บังคับกฎหมายนั้น เช่นกฎหมายเกี่ยวกับโรงงาน กฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุข กฎหมายเกี่ยวกับการเดินเรือและการรักษาแม่น้ำลำคลอง กฎหมายเกี่ยวกับการประมง ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ว่าด้วย ละเมิดและทรัพย์ ประเทศไทยได้มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยตรงเป็นครั้งแรก เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมในภาพรวมทั้งหมด

ขณะเดียวกันกฎหมายและหน่วยงานอื่นๆที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมใน แต่ละเรื่องอยู่เดิมนั้นก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไป คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทำหน้าที่ประสานงาน กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยมิได้มีอำนาจเพียงพอที่จะดำเนินการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘ และมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งได้มีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้เหมาะสมยิ่งขึ้นพร้อมทั้งยกเลิกสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยให้ก่อตั้งหน่วยงานใหม่๓หน่วยงานเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คือสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม8

ที่มาของกฎหมายสิ่งแวดล้อม (Source of Environmental Law)

ในประเทศอังกฤษกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ได้แก่

๑. พระราชบัญญัติต่างๆ เช่นEnvironmental Protection Act 1990(EPA)

๒. กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำละเมิด และCase Law

๓. กฎหมายท้องถิ่น เช่นเทศบัญญัติ

๔. กฎหมายผังเมือง

๕. กฎหมายที่ดิน

๖. กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

๗. กฎหมายเกี่ยวกับสาธารณสุข

๘. กฎหมายเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน

สำหรับในประเทศไทยนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแยกได้เป็น

๒ กลุ่มคือ

๑. กลุ่มกฎหมายมหาชน ได้แก่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดการและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม การออกใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การลงโทษผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมหรือผู้ก่อให้เกิดมลพิษ

๒. กลุ่มกฎหมายเอกชน ได้แก่กฎหมายละเมิดและกฎหมายลักษณะทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หากพิจารณาถึงการออกแบบหรือวางระบบกฎหมายแล้ว กฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีลักษณะคล้ายกับกฎหมายอังกฤษที่ให้EPAเป็นกฎหมายหลักที่กำหนด นโยบายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมีกฎหมายอื่นประกอบ ดังนั้นจึงอาจแยกกลุ่มกฎหมายออกได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ

๑. กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ได้แก่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕

๒. กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและควบคุมการใช้

ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่

๒.๑ กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม เช่นพระราชบัญญัติรักษาคลอง ร.ศ.๑๒๑ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๕๔๖ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้น

๒.๒ กฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่นพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.๒๕๔๒ พระราชบัญญัติ แร่ พ.ศ. ๒๕๑๐เป็นต้น

๒.๓ กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง เช่นพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.๒๕๑๘ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.๒๕๓๕

๒.๔ กฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม เช่นพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.๒๕๑๘ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒

๒.๕ กฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งและอาญาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕9

เจตนารมณ์ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม

คดีสิ่งแวดล้อมทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องระหว่างเอกชนด้วยกันเองหรือระหว่างรัฐกับเอกชนก็ตาม ล้วนแต่มีผลต่อส่วนรวม มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นมรดกของชาติ กระบวนพิจารณาคดีที่ต้องมีการนำสืบพยานหลักฐานที่มีความสลับซับซ้อนและไม่ควรใช้เวลานานเกินไป ผู้เสียหายส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและด้อยโอกาสที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ในการใช้และการตีความกฎหมายอาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในวิถีทางของกฎหมาย จึงจำเป็นที่นักกฎหมายต้องเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเสียก่อน มิฉะนั้นกฎหมายจะไม่มีผลใช้บังคับให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง เจตนารมณ์ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมสรุปได้ ๔ ประการ10 คือ

๑. การป้องกัน (Prevention) การป้องกันมลพิษและความเสียหายที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมเป็นวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญที่สุด(optimum objective)ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่นในส่วนที่๑ของ EPAของอังกฤษเป็นบทบัญญัติในการควบคุมอากาศ น้ำ และพื้นแผ่นดิน(air, water and land)ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะนำไปสู่สิ่งแวดล้อม(Environmental media) ที่ดี

๒. การปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Setting environmental quality standard) กฎหมายสิ่งแวดล้อมจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับมลพิษที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมที่พอยอมรับได้ เป็นหลักเกณฑ์ที่เดินสายกลาง กำหนดเขตแดนแห่งการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมโดยที่ยังคงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยเหตุผลที่ว่า กิจการที่อาจก่อให้เกิดมลพิษนั้น ในขณะเดียวกันก็ยังมีประโยชน์แก่สังคมทั้งเรื่องการจ้างแรงงาน การผลิตสินค้าและบริการ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความสะดวกสบาย(amnenity)ของประชาชน กฎหมายสิ่งแวดล้อมเองยอมรับว่า สังคมยุคใหม่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง ดังนั้นกฎหมายสิ่งแวดล้อมจึงมีหลักการว่ารัฐควรอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมได้ภายใต้การควบคุม

๓. การเยียวยา (Clean-up/remediation) ในบางกรณีการป้องกันสิ่งแวดล้อมมิให้ถูกทำลายอาจจะไม่ทันการ เมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปแล้วจึงจำเป็นที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมจะต้องเข้ามาเยียวยาโดยมีวิธีการเฉพาะ แตกต่างจากการเยียวยาความเสียหายในคดีแพ่งโดยทั่วไปกฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาแหล่งน้ำของอังกฤษ (The Water Resources Act 1991)กำหนดให้องค์กรของรัฐเข้าไปจัดการบำบัดรักษาคุณภาพน้ำได้ทันทีโดยมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติ โดยผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย(Polluter pays principle)

๔. เจตนารมณ์ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีโทษทางอาญา เจตนารมณ์ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีโทษทางอาญานั้นโดยหลักแล้วกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่ต้องการป้องกัน หรือควบคุมมลพิษซึ่งแตกต่างจากเจตนารมณ์ของกฎหมายอาญาโดยทั่วไปที่มุ่งจะลงโทษผู้กระทำผิด หรือเพื่อปกป้องคุ้มครองสังคมส่วนรวม ดังนั้นมาตรการบทบังคับทางกฎหมายอาจจะแตกต่างกันได้ เช่นศาลขุนนาง(Crown Court)ของอังกฤษมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองเยียวยาความเสียหายได้เป็นการชั่วคราวแม้จะเป็นคดีอาญาก็ตาม หรือการมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานเข้าไปในสถานที่ประกอบการเพื่อยึดเครื่องมือ เครื่องจักรที่เป็นต้นเหตุของมลพิษอีกทั้งมีอำนาจทั่วไปที่จะกำหนดวิธีการใดๆก็ได้ที่เหมาะสมกับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น11

กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในปัจจุบัน

ในประเทศไทยปัญหาสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติจนในระยะหลังต้องมีการระบุแนวนโยบายการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมดังไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ ในส่วนของการอธิบายกฎหมายสิ่งแวดล้อมทุกฉบับนั้นผู้อ่านคงหาอ่านได้โดยง่ายจากคำอธิบายกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่นักวิชาการในมหาวิทยาลัยหลายท่านได้เขียนอธิบายไว้โดยละเอียดแล้ว ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงบทบัญญัติของกฎหมายสิ่งแวดล้อมบ้างเท่าที่จำเป็นต่อการทำความ

เข้าใจบทความนี้

ผู้เขียนจึงขอจำกัดประเด็นในการนำเสนอโดยจะกล่าวแต่เฉพาะภารกิจของศาลยุติธรรมที่จะใช้กฎหมายในการ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยผู้เขียนจะได้เปรียบเทียบกับหลักกฎหมายของประเทศ ที่สามารถใช้กฎหมายจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเป็นธรรมมาแล้ว

๑. กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เป็นความผิดทางอาญา หรือที่เรียกว่า Environmental Crime นั้น อาจแยกฐานความผิดได้ ๓ ประการ ประการแรก คือความผิดเนื่องจากการก่อให้เกิดมลพิษ ประการที่สอง คือความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และประการที่สาม คือความผิดฐานกระทำผิดเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานอนุญาตหรือคำเตือนที่เจ้าพนักงานแจ้งให้ทราบ

โดยภาพรวม แล้วกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีโทษทางอาญาของประเทศไทยเป็นบทบัญญัต ิที่สอดคล้องกับทฤษฎีดังกล่าว อยู่แล้ว ข้อที่น่าสังเกตคือ การกระทำที่จะเป็นความผิดกฎหมายอาญาสิ่งแวดล้อมนี้ เนื่องจากเป็นกฎหมายเทคนิค(technical law) กล่าวคือที่เป็นความผิดทางอาญาเพราะกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด(Mala prohibita)เช่นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจร ไม่ใช่เพราะเป็นความผิดต่อเมื่อมีเจตนา(Mala in se)อย่างเช่นความผิดฐานลักทรัพย์ ดังนั้นการกระทำที่จะเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายอาญาสิ่งแวดล้อมนี้ จึงควรเป็นความผิดที่ไม่ต้องการเจตนาเป็นองค์ประกอบความผิด

๒. กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เป็นความรับผิดทางแพ่ง กฎหมายที่กล่าวถึงความรับผิดทางแพ่งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้น ได้แก่

๒.๑ ความรับผิดทางแพ่งตามพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ บทบัญญัติที่สำคัญได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๖ และมาตรา ๙๗ ซึ่งให้ผู้ที่เป็นต้นเหตุแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อมและหรือทรัพยากรธรรมชาติเป็นผู้จ่ายค่าเสียหาย ทั้งหมดทั้งนี้เป็นไปตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (The polluter pays principle)

หลักนี้อธิบายได้ว่า ผู้ก่อให้เกิดมลพิษจะต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการระบบการกำจัดมลพิษ เช่นค่าบำบัดน้ำเสีย ค่าเก็บขยะ นอกจากนี้จะต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายที่เป็นผลมาจากมลพิษที่ตนเองก่อให้เกิดด้วย เช่นค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและกำจัดน้ำมันที่รั่วไหลจากโรงงานของตนที่รัฐต้องจ่ายไป12

มาตรา ๙๖ เป็นความรับผิดในความเสียหายที่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งเอกชนที่ได้รับความเสียหายและรัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนบัญญัติว่า

แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใดๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามลพิษเช่นว่านั้นเกิดจาก

(๑) เหตุสุดวิสัยหรือการสงคราม

(๒) การกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ

(๓) การกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายเอง

หรือของบุคคลอื่น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้น

ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นด้วย”

มาตรา ๙๗ เป็นความรับผิดในกรณีความเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรัฐเท่านั้นที่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน บัญญัติว่า
ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหายไปนั้น”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับประเด็นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่สำคัญได้แก่

คำพิพากษาฎีกาที่ 861/2540 วินิจฉัยว่า

“สิทธิและหน้าที่ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มาตรา 58 สิทธิในการมีอากาศสะอาดบริสุทธิ์หายใจเพื่อสุขภาพพลานามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี สิทธิในการได้รับความรื่นรมย์ ตามธรรมชาติ สิทธิที่จะปลอดความเสียหายและเดือดร้อนอันเกิดจากปัญหาน้ำท่วม ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาความร้อนที่ระบายจากตึกอาคารสูงล้วนเป็นสิทธิตามปกติธรรมดาของคนทั่วไปซึ่งมีสิทธิได้รับตามกฎหมายที่กำหนดอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เป็นสิทธิที่โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสาม

การที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอทราบข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับรายงานการประชุมและมติในการพิจารณาสถานที่ ทำงานของหน่วยราชการในเขตกรุงเทพมหานคร และเมืองหลักรวมทั้งแบบแปลนการจัดพื้นที่การก่อสร้างอาคารและแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ไม่ให้ความร่วมมือและไม่แจ้งเหตุขัดข้องว่าเป็นข้อมูลหรือข่าวสารที่ถือว่าเป็นความลับเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติหรือเข้าข้อยกเว้นข้ออื่นที่ไม่ต้องเปิดเผยแต่อย่างใด จึงเป็นการกระทบสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 6 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 48 ทวิ โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีอำนาจฟ้อง” 13

คำพิพากษาฎีกาที่ 2034/2544 วินิจฉัยว่า

“ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯก็ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์ของกลางไว้โดยเฉพาะ จึงต้องอาศัยบทบัญญัติการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ก็ได้” 14
คำพิพากษาฎีกาที่ 1733/2543 วินิจฉัยว่า

“โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อขอให้ระงับการก่อสร้างและให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน อ้างว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายการก่อสร้างขยายท่าอากาศยานทำให้เกิดฝุ่นละออง ประชาชนและโจทก์ทั้งสิบหกสูดฝุ่นละอองทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง และมีผลต่อการระบายน้ำในหมู่บ้านทำให้เกิดความเสียหายแก่สุขภาพอนามัยและทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสิบหก ดังนี้ กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกเป็นเรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบหกได้รับอันตรายแก่ร่างกาย สุขภาพอนามัย และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสิบหกเสียหายด้วยประการใดๆ

โจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 มาตรา 96 ได้ หรืออาจเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากรัฐในกรณีที่ได้รับความเสียหายอันมีสาเหตุมาจากกิจการหรือโครงการที่ริเริ่ม สนับสนุนหรือดำเนินการโดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6(2)

หรือหากเป็นกรณีจำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อโจทก์ทั้งสิบหกโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ทั้งสิบหกเสียหายแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสิบหก โจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องผู้ทำละเมิดหรือนายจ้างของผู้ทำละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ หรือหากผู้ทำละเมิดทำละเมิดต่อเนื่องกันไม่ยอมหยุด โจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ทำละเมิดหยุดทำละเมิดเสียก็ได้ตามประมวลกฎหมายเพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 420

การที่โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วจะมีผลถึงขนาดที่คณะรัฐมนตรีจะไม่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานจึงยังไม่อาจถือได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบ ยิ่งกว่านั้นโจทก์ทั้งสิบหกได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอันเนื่องมาจากความบกพร่องของผู้ก่อสร้างที่ไม่ป้องกันมลพิษซึ่งความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ผลโดยตรงจากมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ทั้งสิบหกย่อมไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานได้”

นอกจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯดังกล่าวแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ 15 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๓๕ หมวดที่ ๓ กำหนดหน้าที่และความรับผิดทางแพ่งของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ในวัตถุอันตราย 16 ไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่
ตามมาตรา ๖๓ บัญญัติถึงความรับผิดชอบต่อความเสียหายจากวัตถุอันตรายซึ่งอยู่ในความครอบครองไว้ว่า

“ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขนส่ง หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่วัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองของตน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

มาตรา ๖๔ บัญญัติว่า “ผู้ขายหรือผู้ส่งมอบวัตถุอันตรายให้กับบุคคลใด ต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายของบุคคลดังกล่าวอันเกิดแต่วัตถุอันตรายนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเอง”

มาตรา ๖๕ บัญญัติว่า “นายจ้าง ตัวการ ผู้ว่าจ้าง หรือเจ้าของกิจการต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่บุคคลตามมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๔ ได้กระทำไปในการทำงานให้แก่ตน แต่ชอบที่จะได้ชดใช้จากบุคคลดังกล่าว เว้นแต่ตนจะมีส่วนผิดในการสั่งให้ทำ การเลือกหาตัวบุคคล การควบคุม หรือการอื่นอันมีผลโดยตรงให้เกิดการละเมิดขึ้นนั้น”

มาตรา ๖๖ บัญญัติว่า “ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขายส่ง ผู้ขายปลีก คนกลาง และผู้มีส่วนในการจำหน่ายจ่ายแจกทุกช่วงต่อจากผู้ผลิตจนถึงผู้ที่รับผิดชอบขณะเกิดการละเมิดตามมาตรา ๖๓ หรือ มาตรา ๖๔ ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดด้วย”

๒.๒. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยละเมิด หลักกฎหมายละเมิดที่ใช้กับความรับผิดทางแพ่งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้แก่

๒.๒.๑ หลักความรับผิดในผลแห่งละเมิดเนื่องจากการกระทำของตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ ตามมาตรา ๔๒๐ บุคคลที่จะรับผิดในผลแห่งละเมิดนี้ต้องมีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ และในมาตรา ๔๒๒ เป็นความรับผิดฐานละเมิดเมื่อมีการกระทำหรืองดเว้นไม่กระทำการที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ประสงค์จะปกป้องบุคคลอื่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นกฎหมายที่ก่อให้เกิดหน้าที่แก่ผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติตามโดยมีวัตถุประสงค์จะปกป้องบุคคลอื่น การละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือบกพร่องไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดย่อมเป็นการงดเว้นไม่กระทำการตามหน้าที่ที่ตนต้องทำ เป็นการกระทำละเมิดโดยมีเหตุผลพื้นฐานมาจากหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่เกิดจากการใช้กฎหมายละเมิด มาตรา๔๒๐ และมาตรา๔๒๒ คือ

ก. ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดี 17 คงจำกัดแต่เฉพาะผู้เสียหายในกรณีพิเศษ ประชาชนทั่วๆไป หากไม่ได้รับความเสียหายที่เป็นรูปธรรมแล้วไม่มีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่๑๔๑๐/๒๕๑๓ วินิจฉัยว่า

“โจทก์ฟ้องเทศบาลเป็นจำเลยว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่จะต้องจัดให้มีและบำรุงทางน้ำ ทางบก และทางระบายน้ำ ตลอดจนการรักษาความสะอาด ทำให้โจทก์และประชาชนทั่วไปไม่อาจใช้ทางน้ำสาธารณะเป็นทางสัญจรได้เหมือนแต่ก่อน ดังนี้ ย่อมหมายความว่าพลเมืองที่ใช้ทางน้ำสาธาณะนั้นๆร่วมกันเป็นผู้ได้รับความเสียหายไม่ใช่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายยิ่งกว่าประชาชนคนทั่วไป ไม่พอให้ถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๕ ศาลย่อมสั่งไม่รับคำฟ้อง”
ในกรณีที่บุคคลใดพบเห็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปอาจเกิดความเสียหายได้ ถ้าบุคคลได้จัดการบำบัดมิให้เกิดความเสียหายที่บานปลายออกไปโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเองไป บุคคลนั้นก็ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าใช้จายที่ตนออกไปจากบุคคลที่ก่อความเสียหายหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลเหตุภัยพิบัตินั้นโดยใช้หลักกฎหมายเรื่องจัดการงานนอกสั่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๕ – มาตรา ๔o๑

ข. หน้าที่นำสืบ เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามมาตรา๔๒๐และจำเลยปฏิเสธ โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือโจทก์มีความยากลำบากที่จะนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เพราะข้อเท็จจริงนี้ฝ่ายจำเลยจะมีพยานหลักฐานมากกว่าและจำเลยจะทราบข้อเท็จจริงดีกว่าโจทก์ เช่นเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการปล่อยควันพิษของโรงงานจำเลย โจทก์เองไม่มีทางทราบได้เลยว่าการทำงานในโรงงานของจำเลยเป็นอย่างไร จำเลยเองเสียอีกที่ย่อมทราบแก่ใจของตนเองว่าตนทำอะไรไปบ้าง

ในประเทศอังกฤษมีหลัก Res ipsa loquiter ที่โจทก์มีภาระการพิสูจน์พยานหลักฐานในเบื้องต้น (prima facie evidence) ซึ่งข้อที่พิสูจน์เบื้องต้นนี้จะสื่อให้เห็นว่าจำเลย จงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ตามหลักเรื่องข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของฝ่ายตนโดยเฉพาะ หลักนี้เป็นหลักกฎหมายอังกฤษกำหนดขึ้นเพื่อความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี เพราะในเมื่อข้อเท็จจริงอันหนึ่งอยู่ในความรู้เห็นของคู่ความฝ่ายหนึ่งเพียงคนเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีหน้าที่นำสืบ ซึ่งเขาจะต้องประสบความยากลำบาก หรืออาจเป็นพ้นวิสัยที่จะพิสูจน์ หลักนี้มีที่ใช้มากในเรื่องละเมิดอันเกิดจากความประมาทตามปกติ

การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยประมาททำให้เกิดความเสียหาย โจทก์จะต้องมีหน้าที่นำสืบ แต่บางกรณีโจทก์ไม่มีทางสืบได้ เพราะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประมาทอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยคนเดียว ถ้าจะให้โจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบ โจทก์ก็คงต้องแพ้คดี จึงเกิดหลัก Res ipta loguitur ขึ้นมา หลักนี้มีว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น ทำให้โจทก์เสียหายเพราะการกระทำของจำเลย และเหตุนั้นอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยฝ่ายเดียวแล้ว ถ้าจำเลยไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุนั้นได้ ต้องถือว่าจำเลยประมาทไว้ก่อน และจำเลยต้องมีหน้าที่นำสืบแก้ตัว เช่น จำเลยขับรถแฉลบลงข้างทางโดยไม่ปรากฏสาเหตุหรือแพทย์ลืมสำลีไว้ในท้องคนไข้ เป็นต้น 18

ดังนั้นหลังจากที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเสร็จแล้ว ศาลก็จะโยนภาระการพิสูจน์(shift of the burden of proof)ไปยังจำเลยที่มีพยานหลักฐานโดยตรงที่เกี่ยวกับการกระทำของตนเอง หากจะนำหลัก Res ipsa loquiter มาใช้ในศาลไทยก็พอจะมีทางเป็นไปได้โดยการใช้ดุลพินิจจดรายงานกระบวนพิจารณาในชั้นชี้สองสถาน กำหนดให้โจทก์จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อนตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๓วรรคหนึ่ง เพราะการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังตามมาตรา ๑๘๓ ถือว่าเป็นดุลพินิจของศาล โดยถือความสะดวกในการสืบพิจารณาพยานเป็นสำคัญ แต่การวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีต้องถือภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบที่ถูกต้อง ชอบด้วยมาตรา ๘๔ เป็นสำคัญ 19

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔o๔-๑๔o๕ /๒๕o๘ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘๓ วินิจฉัยว่า

“ให้อำนาจแก่ศาลจะสั่งให้คู่ความฝ่ายใดนำสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้ เมื่อประเด็นที่จำเลยต่อสู้เป็นประเด็นสำคัญซึ่งถ้าได้ความแล้วคดีอาจพิจารณาพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นข้ออื่นๆแล้ว ศาลอาจสั่งให้จำเลยนำสืบก่อนทุกประเด็นก็ได้”
ค. ความรับผิดของผู้ประกอบการที่แต่ละคนมีส่วนก่อให้เกิดความ เสียหาย ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมบางกรณีอาจเกิดจากการสะสม ค่อยๆเป็นค่อยไปทีละเล็กละน้อย และที่สำคัญคือ บางกรณีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมได้ แต่ผู้ประกอบการหลายๆรายต่างคนต่างกระทำก็จะเกิดความเสียหายได้ เช่นแม่น้ำสายหนึ่งเน่าเสียอย่างรุนแรง ลำพังแต่การที่โรงงานก.ปล่อยน้ำเสียลงไปในแม่น้ำ ในทางทฤษฎีวิทยาศาสตร์แล้ว ไม่ถึงกับทำให้แม่น้ำเน่าเสียได้ แต่หากโรงงานข. โรงงานค. โรงงานง.ปล่อยของเสียระบายลงแม่น้ำไปด้วย เมื่อรวมๆของเสียที่โรงงานทั้งสี่แห่งระบายลงสู่แม่น้ำแล้ว เป็นเหตุให้แม่น้ำเน่าเสียได้ การดำเนินคดีของผู้เสียหายย่อมมีความยุ่งยากที่จะพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยมีความสัมพันธ์กับผลเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่(Causation) เพราะความเสียหายเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ(multiple causation) และพฤติการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เป็นการกระทำละเมิดร่วม(joint tort - feasor)

ในสหรัฐอเมริกา ในคดี Senn v. Merrell-Dow Pharmarceutical, INC. 20 ศาลใช้หลักที่เรียกว่า “market share alternative liability” ให้จำเลยหลายรายที่แม้จะไม่ได้ร่วมกันทำละเมิดโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยแต่ละรายล้วนแต่มีความเป็นไปได้ที่มีส่วนในการทำให้เกิดความเสียหาย ในเมื่อจำเลยทุกรายต่างก็ได้ประโยชน์ในการอุตสาหกรรมโดยมีส่วนแบ่งในการตลาดในผลิตภัณฑ์ของตน ก็ไม่มีเหตุผลใดที่เมื่อสังคมส่วนรวมได้รับความเสียหาย จำเลยจะไม่ต้องรับผิด ส่วนจะรับผิดมากน้อยเพียงใดนั้นต้องแล้วแต่การนำสืบพยานหลักฐานแก้ตัวของฝ่ายจำเลยเอง 21 ศาลฎีกาเคยวางหลักไว้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๔/๒๕๓๔ ว่า

จำเลยซึ่งขับรถยนต์โดยสารกับ ส. ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายมาต่างประมาทด้วยกัน มิใช่เป็นการร่วมกันทำละเมิด ผู้ตายมิได้มีส่วนทำความผิดด้วย และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอันเดียวกัน เป็นหนี้อันจะแบ่งแยกจากกันชำระมิได้ ผู้ทำละเมิดทุกคนต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วมตามป.พ.พ.มาตรา ๓๐๑ ประกอบด้วย มาตรา๒๙๑ จำเลยจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยกับส.จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับส.ด้วยกันเอง”
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้วางหลักว่าเมื่อบุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ไม่อาจเป็นการกระทำที่เป็นละเมิดร่วมได้ เพราะการละเมิดร่วมต้องเป็นการกระทำโดยจงใจร่วมกัน แต่เมื่อผู้กระทำละเมิดแต่ละคนต่างก็มีส่วนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและความเสียหาย ไม่อาจแบ่งแยกได้ ผู้กระทำละเมิดจึงต้องรับผิดด้วยกันอย่างลูกหนี้ร่วม ทั้งที่มิได้เป็นลูกหนี้ร่วมตามป.พ.พ.มาตรา๓๐๑ประกอบมาตรา๒๙๑

๒.๒.๒ หลักความรับผิดเด็ดขาด(Strict liability) ในคดี Ryland v. Fletcher 22 ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นเจ้าของเหมืองแร่ซึ่งติดกับที่ดินโจทก์ จำเลยสร้างเขื่อนกั้นน้ำทำให้น้ำไหลเข้าไปในที่ดินโจทก์ ศาลพิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยให้เหตุผลว่าบุคคลใดนำสิ่งใดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเข้ามาในที่ดินของตน บุคคลนั้นต้องจัดการเก็บรักษามิให้สิ่งนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากสิ่งของนั้นที่เข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่น เจ้าของสิ่งอันตรายนั้นต้องรับผิดแม้จะไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม เป็นความรับผิดโดยปราศจากความผิด (Liability without fault) หลักความรับผิดเด็ดขาดหรือความรับผิดเคร่งครัดนี้ ปรากฏอยู่ใน ป.พ.พ.มาตรา ๔๓๗ ที่บัญญัติว่า

บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงบุคคลผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของอันเกิดอันตรายได้

โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย”

หากความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเกิดจากทรัพย์อันตราย กฎหมายบัญญัติให้ผู้ครอบครองรับผิดไว้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือความผิดของผู้เสียหายเอง แม้จำเลยผู้ครอบครองทรัพย์อันตรายจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ จำเลยก็ไม่พ้นความรับผิดเพราะมาตรา๔๓๗นี้เป็นความรับผิดของบุคคลเนื่องจากทรัพย์ที่ตนเอง

ใช้ประโยชน์ ครอบครอง ในเมื่อตนเองได้ประโยชน์จากตัวทรัพย์ เมื่อทรัพย์ก่อให้เกิดความเสียหาย ตนเองก็ต้องรับผิด(คำพิพากษาศาลฎีกาที่๒๖๕๑/๒๕๔๖)

ข้อสังเกต หลักความรับผิดเด็ดขาดนี้มีข้อจำกัดที่จะนำไปใช้ได้ต่อเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจาก

“ทรัพย์อันเป็นของอันเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์”

เท่านั้น หากกรณีที่ไม่ใช่ทรัพย์อันตราย ผู้เสียหายควรแถลงต่อศาลในวันชี้สองสถานขอให้ศาลกำหนดประเด็นตามหลัก Res ipsa loquiter ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘๓ ตามข้อ ๒.๒.๑ ข.ดังกล่าวข้างต้น

๒.๒.๓. กฎหมายลักษณะทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ๔ ได้แก่บทบัญญัติเกี่ยวกับการก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญตามมาตรา๑๓๓๗ซึ่งบัญญัติว่า

บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รบความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน”
การพัฒนาด้านวิชาการและวิชาชีพ

ในประเทศอังกฤษในครั้งที่มีการออกกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยตรง มีข้อที่น่าสนใจว่านอกจากอังกฤษจะออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมแล้ว อังกฤษยังได้พัฒนาควบคู่ไปด้วยเกี่ยวกับความรู้ทางวิชาการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาบุคลากรให้มีความ เป็น วิชาชีพเป็นนักสิ่งแวดล้อม (Environmentalist) เช่นเดียวกับแพทย์ นักกฎหมาย วิศวกร 23

ในแง่ของนักกฎหมาย คดีสิ่งแวดล้อมมีลักษณะคดีและเจตนารมณ์แตกต่างจากคดีแพ่งและคดีอาญาทั่วไปดังกล่าวแล้ว เรามีนักกฎหมายเฉพาะด้านหลายสาขากฎหมายแล้วเช่นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษี กฎหมายธุรกิจการค้าฯลฯ แต่ยังขาดแคลนนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างถ่องแท้และจริจัง เพราะการพัฒนา อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คดีเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อน ลำพังแต่ความรู้ในทางนิติศาสตร์ยังไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการทางกฎหมายเป็นพิเศษที่เหมาะสมแก่การแก้ไขปัญหาหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้ ในหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศได้กำหนดเป็นหลักการที่มอบความไว้วางใจแก่ศาลเป็นอย่างมากในการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่รูปคดี เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะกระบวนการในศาลเป็นกระบวนการที่เปิดเผยต่อสาธารณชน เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเข้ามาใช้สิทธิทางศาลได้อย่างกว้างขวางและคำสั่งศาลถูกตรวจสอบได้ในตัวเอง

เนื่องจากคำพิพากษาต้องประกอบไปด้วยหลักกฎหมายและเหตุผล และยังอาจถูกตรวจสอบโดยการอุทธรณ์ต่อศาลสูง ในประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่ากระบวนการในศาลเป็นกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส มีเหตุผลและเป็นธรรมหรือที่เรียกว่า Due Process ผลที่ได้นอกจากความยุติธรรมแล้ว วงการกฎหมายสิ่งแวดล้อมยังจะได้ทราบบรรทัดฐานของหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

กฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยแม้ว่าจะก่อกำเนิดมาร่วม๓๐ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงขาดการพัฒนาการใช้กฎหมายนี้มากเท่าที่ควร หากศาลยุติธรรมเป็นผู้นำในการจัดองค์กรศาลให้มีกระบวนพิจารณาคดีเป็นพิเศษ จัดองค์คณะผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กฎหมายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็จะเป็นการพัฒนาการใช้การตีความกฎมายสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมไปกับการพัฒนาประเทศ ในทางทฤษฎีรัฐจะต้องมีกฎหมายที่ดี แต่ในความเป็นจริงคนใช้กฎหมายสำคัญกว่ากฎหมาย หากรัฐมีกฎหมายที่ดี แต่นักกฎหมายขาดความรู้ ความเข้าใจหรือความเชี่ยวชาญ กฎหมายที่ดีจะกลายเป็นกฎหมายที่ไม่ดี ความสำคัญของผู้ใช้กฎหมายจึงเท่าเทียมกันกับตัวบทกฎหมาย

ในสหรัฐอเมริกา ทนายความที่ละเอียดในการทำงานจะทราบว่าผู้พิพากษาแต่ละท่านมีแนวความคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

(judge’s ideology)อย่างไร ศาลบางมลรัฐ เช่น The Federal District Court in Washington D.C.เป็นที่รู้กันในหมู่ทนายความว่าเป็นศาลที่นิยมชมชอบกับสิ่งแวดล้อม(is known for being pro-environment)

ดังนั้นหากกลุ่มอนุรักษ์นิยม(Environmental activists)ฟ้องคดีที่ศาลนี้ก็มีแนวโน้มว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นมีทางเป็นไปได้ ส่วนที่ศาลที่ไม่นิยมชมชอบสิ่งแวดล้อม(Anti-environment)เช่นLouisiana District Courts ที่ศาลนี้เมื่อภาคธุรกิจ(business interests)ฟ้องคดี ข้อเรียกร้องของตนก็มีทางเป็นไปได้ และเมื่อผู้พิพากษาชุดเดิมต้องพ้นวาระไป ทนายความก็จะปรับเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติของผู้พิพากษาเสียใหม่เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ในศาลสูงนั้นก็มีปัญหาเช่นกัน กล่าวคือ ผู้พิพากษาไม่เข้าใจในประเด็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับหลักวิทยาศาสตร์ ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม๒๕๓๔ The Flascher Judicial Institute in Boston and the Environmental Law Institute in Washingon D.C.ได้เปิดอบรมผู้พิพากษาทั่วประเทศที่New Englandโดยมีวิทยากรผู้บรรยายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม24

ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว และมีประชาชนจำนวนมากถึง ๖๐ กว่าล้านคน ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งเจริญขึ้นหรือมีมากขึ้นเท่าไร มลพิษ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การบุกรุกธรรมชาติ การรังแกสัตว์หรือทำลายชีวิตสัตว์และการทำลายสิ่งแวดล้อมย่อมเกิดขึ้นมากขึ้นเท่านั้น หากเราไม่มีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหา ในประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแล้ว การทำลายสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ในขณะนี้ได้มีการจัดตั้งแผนกสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกาแล้ว โดยให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษรวม ๒๔ ฉบับ

ดังนั้นจึงควรมีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ด้วย เพื่อศาลยุติธรรมจะได้มีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าคดีที่มีประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะ ได้รับการพิจารณาพิพากษา โดยผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อมและ เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นพิเศษและอาจจะ จัดตั้งแผนกคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน ศาลอุทธรณ์ทุกแห่งและให้คำพิพากษาของศาลในคดี สิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ถึงที่สุดที่ชั้นศาลอุทธรณ ์เช่นเดียวกับร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดียาเสพติดฯ

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความสำคัญต่อการกินดีอยู่ดีและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จะต้องใช้เวลานานหลายศตวรรษและอาศัยบรรพบุรุษของเราหลายชั่วอายุคนพิทักษ์รักษาไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน แต่สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอาจถูกมนุษย์ทำลายได้ภายในเวลาไม่กี่นาที การที่ความยุติธรรมมาสายเกินไปย่อมทำให้ความเสียหายเพิ่มมากขึ้นไปทุกนาที มาตรการในการพิทักษ์ คุ้มกัน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงจำเป็นต้องถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยและพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป ยังไม่มีมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมชั่วคราวก่อนพิพากษา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ต้องมีภาระการพิสูจน์ 25 และความเสียหายอาจมีลักษณะสะสม เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย 26 หรือใช้เวลานานเกินกว่าปกติเช่น กรณีสารพิษคลองเตย สารกัมมันตรังสี โคบอลต์-๖๐รั่วไหล โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หรือสารตะกั่วที่คลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรีเป็นต้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวศาลควรใช้ ป.พ.พ.มาตรา๔๔๔วรรคสองซึ่งบัญญัติว่า

“…ถ้าในเวลาที่พิพากษาคดี เป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นได้มีแท้จริงเพียงใด ศาลจะกล่าวในคำพิพากษาว่าสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษานั้นอีกภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีก็ได้”

และศาลควรคำนึงว่าความเสียหายในอนาคตแต่แน่นอนนั้นเป็นความเสียหายที่ศาลพิพากษาให้จำเลย รับผิดได้ (Damages can be awarded in respect of future loss) 27 เช่นการที่โจทก์ต้องไปพบแพทย์เป็นประจำทุกเดือนหลังถูกทำละเมิด แม้ขณะฟ้องคดีหรือขณะที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์ยังไม่ได้ไปพบแพทย์ก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้เพราะเป็นความเสียหายในอนาคตที่แน่นอน 28 และการกำหนดค่าสินไหมทดแทนในอนาคตนี้แม้จะเกินสองปี ศาลมีอำนาจกำหนดได้หากโจทก์มีพยานหลักฐานที่หนักแน่นจนทำให้ศาลหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นได้มีแท้จริงในอนาคตเพียงใด และนักกฎหมายทุกฝ่ายควรเข้าใจว่ามาตรการในการเยียวยา ความเสียหายนั้นมิได้มีแต่เฉพาะการชดใช้ ค่าเสียหายเท่านั้น เพราะผู้ทำละเมิดต้องรับผิดใช้ค่าสินไหม ทดแทนแก่ผู้เสียหาย

คำว่า “ค่าสินไหมทดแทน” หรือที่ตัวบทภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Compensation” หากแปลความว่า “การทดแทนความเสียหาย” น่าจะตรงกับความหมายมากกว่า การทดแทนความเสียหายคือการทำให้ผู้เสียหายกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนถูกละเมิดให้มากที่สุด ค่าเสียหายจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนประการหนึ่งเท่านั้น ในปัญหาว่าใครบ้างที่มีสิทธิเรียกร้องมาตรการในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น หากบุคคลทั่วไปเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้เสียหายในกรณีพิเศษ บุคคลนั้นย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๙๖ในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษและหรือ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ก็เรียกร้องตาม มาตรา ๖๓ ถึงมาตรา ๖๖

หรืออาจเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิดหรือทรัพย์ได้แล้วแต่กรณี และในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาธารณประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นมลพิษหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ นอกจากเอกชนจะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แล้ว รัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้อีกด้วยตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพและสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๙๖, มาตรา ๙๗ และกฎหมายพิเศษต่างๆดังกล่าวข้างต้นแล้วแต่กรณี ข้อที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งคือศาลในระบบ Common Law มีการกำหนดค่าเสียหายที่เป็นการลงโทษ(Punitive Damage) ตามกฎหมายไทยนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๓๘ บัญญัติว่า

“ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”

จากบทบัญญัติดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าได้เปิดช่องให้ศาลกำหนดค่าเสียหายในลักษณะนี้ได้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๑๗-๑๖๑๘/๒๕๐๐ วินิจฉัยว่า

“ค่าเสียหายฐานละเมิด เพราะทำลายครัว ห้องน้ำ จึงใช้ทรัพย์ไม่ได้ตามปกติ ศาลกำหนดค่าเสียหายให้ตามสมควรนอกเหนือไปกว่าราคาทรัพย์ก็ได้” และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๔/๒๕๐๑วินิจฉัยว่า “จำเลยละเมิดโดยจงใจทั้งที่มีผู้ทักท้วงแล้ว เป็นพฤติการณ์แสดงความร้ายแรงที่ศาลคำนึงในการกำหนดค่าเสียหายได้”

แต่โจทก์ต้องมีคำขอท้ายฟ้องและนำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำของจำเลยเพื่อให้ศาลกำหนดค่าเสียหายให้มากกว่าความเสียหายที่แท้จริงเพราะศาลเองก็ไม่ต้องการให้มีการค้ากำไรจากการเป็นคดี ดุลพินิจของศาลในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะเป็นประโยชน์ในคดีสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะใน กรณีที่มีความเสียหายที่ไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เช่นความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับเป็นสภาพความเป็นอยู่ที่เลวลง สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ สภาพแวดล้อมที่มีผลในเชิงลบต่อคุณภาพชีวิตเป็นต้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่มีบทบัญญัติที่จะให้ศาลใช้วิธีการชั่วคราวก่อนฟ้องคดี 29 ตามหลัก Anton Piller Order ที่ศาลอังกฤษวางหลักว่าศาลมีอำนาจสั่งให้บุคคลใดระงับการกระทำใดๆที่จะเป็นการทำลายพยานหลักฐาน

ที่เกี่ยวข้องและอาจถูกนำเสนอในคดีที่ผู้ร้องจะฟ้องบุคคลนั้น โดยผู้ร้องขอคำสั่งศาลดังกล่าวอาจได้รับหมายศาลไปดำเนินการตามที่ร้องขอได้โดยไม่จำเป็นต้อง ไต่สวนพยาน จำเลย จึงควรแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้แม้ยัง ไม่มีการฟ้องคดีก็ตาม กระบวนพิจารณาคดีเกี่ยวกับ คำร้องนี้จึงเป็นการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวหรือที่เรียกว่า “exparte” และหากผู้ร้องไม่ฟ้องคดีภายในกำหนด คำสั่งศาลย่อมสิ้นผลไปและผู้ร้องอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายหากผู้ถูกหมายศาลได้รับความเสียหาย 30

สำหรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาได้และควรแก้ไขกฎหมายให้พนักงานอัยการโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยแก้ไขเยียวยา ความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐหรือประชาชนที่ได้รับความเสียหาย และควรแก้ไขกฎหมายให้ชัดเจนว่าข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญามีผลผูกพันจำเลยและโจทก์รวมทั้งผู้เสียหายรายอื่นในทำนองเดียวกันกับโจทก์ ในส่วนของการเยียวยาความเสียหาย นั้นควรจะเปิดกว้างที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจไปในทางที่เหมาะสม เพราะในคดีสิ่งแวดล้อมบางคดีศาลต้องชั่งน้ำหนัก ๓ ฝ่าย

ฝ่ายที่หนึ่ง คือฝ่ายที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฝ่ายที่สอง คือฝ่ายผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมและฝ่ายที่สาม คือฝ่ายผลประโยชน์ของปัจเจกชน หากจำกัดการใช้ดุลพินิจศาลในการมีคำพิพากษาให้เหมือนกับหลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความโดยทั่วไปแล้ว คำพิพากษาของศาลแทนที่จะแก้ปัญหา อาจกลับกลายเป็นการก่อปัญหาก็เป็นได้ ตัวอย่างที่

ผู้เขียนอยากกล่าวถึงคำพิพากษาที่มีความยืดหยุ่นตามสภาพปัญหาคือ คดี Boom v. Atlantic Cement 31 ที่จำเลยประกอบกิจการโรงงานปูนซิเมนต์ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองขนาดเล็กในประเทศสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจของชุมชนนี้ขึ้นอยู่กับโรงงานปูนซีเมนต์ โจทก์ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นอันเกิดจากโรงงานได้ยื่นฟ้องขอให้โรงงานหยุดการก่อเหตุเดือดร้อน

รำคาญและขอให้จ่ายค่าเสียหาย ศาลของรัฐนิวยอร์คพิพากษาให้โรงงานจำเลยจัดการแก้ไขปรับปรุงการประกอบกิจการไม่ให้ก่อความเดือดร้อน ภายในเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ ให้โรงงานจำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ไปหาซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในบริเวณอื่น 32

ในประเด็นนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๖๓๔/๒๕๓๖ วินิจฉัยว่า ผู้ที่เข้าไปหาแหล่งมลพิษหรือเหตุเดือดร้อนรำคาญเอง ไม่อาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน หรือให้ระงับการกระทำนั้นได้ ในคดีนี้กรมทางหลวงปรับปรุงถนนให้สูงขึ้นเพื่อความสะดวก ในการสัญจรไปมาของประชาชนทั่วไปและเพื่อป้องกัน น้ำท่วม โจทก์อ้างว่าการก่อสร้างถนน ดังกล่าวละเมิดสิทธิของโจทก์เพราะบังทางลมและแสงสว่างบริเวณบ้านของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่ากรมทางหลวงจำเลยกระทำการดังกล่าวตามอำนาจหน้าท ี่ในกฎหมายโดยมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ และโจทก์ก็ทราบมาก่อนการซื้อบ้านแล้วว่ากรม ทางหลวงจะทำการก่อสร้างยกระดับถนนซึ่ง

ถือว่าโจทก์ยอมรับสภาพดังกล่าวก่อนการซื้อบ้านแล้ว นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบระหว่างความเดือดร้อนที่โจทก์ได้รับกับประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ถือว่าความเดือดร้อนที่โจทก์ได้รับนั้นไม่เกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ และโจทก์จะต้องยอมรับสภาพดังกล่าวเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่นในสังคม จึงไม่ถือว่าการก่อสร้างถนนดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก
ผู้เขียนเห็นว่าในข้อจำกัดของตัวบทกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คำพิพากษาของศาลยุติธรรมถือได้ว่ามีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจ มิใช่ว่าผู้เขียนเป็นผู้พิพากษาจึงสรุปดังนี้ หากแต่ในทางตำรากฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ผู้เขียนได้ค้นคว้า นักวิชาการต่างก็หยิบยกเอาคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานในการอธิบาย ปัญหาส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ตัวบทกฎหมาย ทั้งในส่วนของกฎหมายสารบัญญัติที่เป็นกฎหมายอาญาที่อัตราโทษต่ำไปตนผู้กระทำผิดยอมเสียค่าปรับดีกว่า จะหยุดพฤติการณ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเห็นว่าสามารถนำค่าปรับไปรวม ในต้นทุนสินค้าได้

นอกจาก ปัญหาและข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้นแล้วผู้เขียนเห็นว่า ในส่วนของกฎหมายวิธีสบัญญัติไม่ว่าในทางแพ่งหรือทางอาญาควรมีการแก้ไขโดยกำหนดให้คดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้รับการพิจารณาคดีที่รวดเร็วทันทีที่เกิดความเสียหายโดยต้องให้ศาลมีอำนาจออกมาตรการชั่วคราวระหว่างที่ยังไม่มีการฟ้องคดี หรือ ก่อนศาลพิพากษาทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เพราะหากจะรอให้คำพิพากษาถึงที่สุดจึงจะบังคับคดีแล้ว คำพิพากษานั้นอาจไม่มีอะไรให้บังคับคดีก็ได้ ควรขึ้นบัญชีพยานผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแก่ศาล ในส่วนของคำพิพากษานั้นควรแก้กฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการทำคำพิพากษาให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ควรให้อำนาจศาลแก้ไขคำพิพากษาได้ในกรอบที่กำหนดไว้ ควรให้มีกรอบเวลาที่ชัดเจน สำหรับคดีสิ่งแวดล้อมควรจัดตั้งแผนกคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ทุกแห่งและให้คำพิพากษาของศาลถึง ที่สุดที่ชั้นศาลอุทธรณ์เช่นเดียวกับร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์ คดียาเสพติดฯ

ควรอบรมนักกฎหมายทุกฝ่ายให้เห็นถึงความสำคัญของคดีสิ่งแวดล้อมและให้มีความรู้ความเข้าใจในปัญหา สิ่งแวดล้อมและมีความเชี่ยวชาญในการใช้และการตีความกฎหมายสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ควรแก้กฎหมายให้มีคณะกรรมการกำหนดค่าสินไหมทดแทนคดีสิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วย

นักธุรกิจ ประชาชน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมและนักวิชาการเศรษฐศาสตร์เพื่อเสนอความเห็นต่อศาล เกี่ยวกับการเยียวยาทดแทน ความเสียหายและจำนวนเงินค่าเสียหายที่ควรจะเป็น โดยมีหลักการ และเหตุผลประกอบในประเด็นของผู้มีอำนาจ ฟ้องคดีนั้นไม่ควรจำกัดเฉพาะผู้เสียหายในกรณีพิเศษ หรือเฉพาะเจ้าพนักงานของรัฐเท่านั้น

แต่ควรเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระหรือNGO ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๗และมาตรา๘เป็นผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย เพื่อประโยชน์ส่วนรวมจากบุคคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ

สภาพแวดล้อมโดยทั่วไป เช่นแม่น้ำลำคลอง หรือทรัพยากรธรรมชาติหรือแม้กระทั่งการกำหนด หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมที่ให้องค์กรเอกชนเหล่านี้มีอำนาจ ฟ้องคดีอาญาหรือร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับ พนักงานอัยการในกรณีที่มีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการก่อความเสียหาย แก่สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมอันเป็นการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ มาตรา๗๙ และ ควรยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีแพ่งบางประเภท ควรแก้ไขให้กองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา๒๒ ให้มีบทบาทมากขึ้นในการปฐมเยียวยา (first aid) ความเสียหายที่เกิดจากมลพิษหรือ เกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ควรแก้กฎหมายให้มีการฟ้องคดีกลุ่ม (class action) ตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลทำให้เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องคดีแล้ว ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดแทนผู้เสียหายคนอื่นที่ได้รับเคราะห์กรรม ความเสียหายในเหตุการณ์เดียวกันได้ด้วยซึ่งจะทำให้ผู้เสียหาย กลุ่มประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย 33

ควรมีการเวนคืนที่ดินที่จะเป็นการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ควรให้อำนาจศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม ในการไต่สวน คำร้องในลักษณะไต่สวนสาธารณะเมื่อปรากฏว่า มีองค์กรใดของรัฐหรือภาคเอกชนที่กำลังมี การกระทำที่ส่อแสดงว่าจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมโดยกำหนด กรอบเวลาที่รวดเร็ว เป็นพิเศษ เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาการตั้งสถานบันเทิงที่เกี่ยวกับอบายมุขในชุมชนเมืองหรือใกล้กับโรงเรียน ต้องผ่าน กระบวนการ Due Process ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นก่อน

กระบวนการไต่สวนสาธารณะนี้จะเป็นบทบาทใหม่ของศาลที่จะป้องกันมิให้เกิดข้อพิพาท ควรสนับสนุนวิธีการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีโดยการไกล่เกลี่ยในศาลที่มีผู้ไกล่เกลี่ยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม หากมีการแก้ไขกฎหมายตามที่ผู้เขียนเสนอแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าจะทำให้บทบาทและภารกิจของศาลยุติธรรมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ไปด้วยกันได้

หรือสร้าง ความสมดุลกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมดังที่ที่ประชุมของ The world Conservation Strategy1980 (IUCN 1980)ได้สรุปไว้ว่า “development and conservation are equally necessary for our survival”

หมายความว่า”การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาประเทศจึงไปด้วยกันได้และสิ่งทั้งสองนี้จำเป็นต่อความ อยู่รอดของเรา”

บทบาทหรือภารกิจนี้จะเด่นชัดเป็นประโยชน์และตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าบทบาทของศาลในปัจจุบันที่ถูกมองว่าศาลยุติธรรมมีเพียงบทบาทในการลงโทษผู้กระทำผิดเท่านั้น

ในท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแด่ พระราชดำรัส แก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒ว่า

“ ……วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่าเมืองไทยนี้ อีกหน่อยจะแห้ง ไม่มีน้ำเหลือ จะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศซึ่งอาจเป็นไปได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าถ้าคำนวณดูน้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้น ยังมีอยู่เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ…..ภูมิประเทศของประเทศไทย “ยังให้”หมายความว่ายังเหมาะแก่การอยู่กินในประเทศนี้ ประเทศไทยนี้เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาเอาไว้ไม่ให้ประเทศไทยซึ่งเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทราย พูดกันว่า ถ้าหากไปทำโครงการไฟฟ้าพลังน้ำก็จะไปทำลายป่า ทำให้เสียหายกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ผู้ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็พูดอย่างนั้น อันนี้ความเป็นจริง ถ้าไปทำลายป่าแล้ว สิ่งที่ตามมาคือสนามกอล์ฟ หรือการท่องเที่ยว หรือการลักลอบตัดป่าเป็นต้น ดังนี้ข้อเสียมันเพิ่มขึ้นมากได้จริง แต่ถ้าหากไปทำในที่ที่เหมาะสม คำนวณได้ผลเสียในการตัดไม้ส่วนหนึ่งจะคุ้มกับผลได้….เราต้องเลือกดูว่าจะรักษาป่าไว้ หรือจะต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น….”
และพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องใน มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา

๕ รอบ ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๕ว่า

“…ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า เพราะเหตุใดเราควรรักษาป่า ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเท่านั้น แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือแหล่งน้ำและพวกเราควรจะรู้คุณของแผ่นดินเราเรียกแผ่นดินนี้ว่าแผ่นดินแม่ ก็เพราะแผ่นดินนี้เป็นที่เกิดและเลี้ยงดูคนไทยมากว่า ๗๐๐ปี ควรที่เราทั้งหลายจะบำรุงรักษาแผ่นดินให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้”
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถดังกล่าว เป็นข้อเตือนใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีความห่วงใยในปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
“……ไม่มีพระราชวังไหนในโลก เหมือนพระตำหนักจิตรลดา และบริเวณสวนจิตรลดาที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลา และไร่นาทดลอง อีกทั้งโรงโคนม ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลายหลากจึงพูดได้อย่างเต็มปากว่าในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับกับพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทำงานอย่าง หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ด้วยพระองค์เอง…..” 34
จึงควรที่นักกฎหมายทั้งหลายควรจะระดมสรรพกำลังและคลังสมองช่วยกันปฏิรูปหรือพัฒนากฎหมาย สิ่งแวดล้อมให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้ความเจริญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไปด้วยกันได้พร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ดี ในส่วนของศาลยุติธรรมซึ่งพิจารณาพิพากษาคดี ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้อง บริหารจัดการองค์กรและบุคลากร ตลอดจนเสนอแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องให้รองรับปัญหาสิ่งแวดล้อม

ที่จะเกิดขึ้น เช่นกัน


* ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ประจำสำนักประธานศาลฎีกา

1 David Wilkinson,Environment and Law, 1st ed.(London:Routledge 2002),p.41

2 พรชัย ด่านวิวัฒน์ “ประเทศไทยกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศในปัจจุบัน” วารสารนิติศาสตร์ ปีที่๓๐ ฉบับที่๑ (มีนาคม ๒๕๔๓ ):หน้า ๓๕

3 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่แปด พ.ศ. ๒๕๔๔–๒๕๔๙ หน้า๑๓๖

4 พรชัย ด่านวิวัฒน์ อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒, หน้า๓๔

5 สหรัฐอเมริกาเคยใช้มาตรการห้ามนำเข้ากุ้งกุลาดำจากประเทศไทยด้วยเหตุผลว่าประมงไทยจับปลาโดย

ใช้อวนลาก เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในทะเล

6 Nancy K. and Gary S. Silverman, Environmental Law ,3rd ed.(U.S.A.: Prentice – Hall,2000),p.3-4

7 Susan Wolf & Anna White ,Environmental Law , 1st ed.

(London :Cavendish Publishing,1995), p.3-4

8 อำนาจ วงศ์บัณฑิต, กฎหมายสิ่งแวดล้อม พิิมพ์ครั้งที่๑(กรุงเทพฯ:วิญญูชน,๒๕๔๕), หน้า๔๕

9 อุดมศักดิ์ สินธิพงษ์, กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พิมพ์ครั้งที่๑(กรุงเทพฯ:วิญญูชน, ๒๕๔๗), หน้า ๔๖–๔๘

10 Susan Wolf & Anna White, supra note7, p.9-10

11 Susan Wolf & Anna White, supra note7, p. 13

12 Susan Wolf & Anna White, supra note 7, p.15

13 มีหมายเหตุท้ายฎีกาว่า “สิทธิในการได้รับทราบข้อมูลและข่าวสาร ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างกว้างๆ โดยจะเขียนรายละเอียดไว้ในกฎหมายต่างๆ เช่นสิทธิในการรับข้อมูลและข่าวสารในด้านสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ

สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 บัญญัติไว้ในมาตรา 6(1) ว่าบุคคลอาจมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากทางราชการในเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษา

คุณภาพสิ่งแวดล้อม เว้นแต่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ทางราชการถือว่าเป็นความลับเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือเป็นความลับเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในทรัพย์สิน หรือสิทธิในทางการค้าหรือกิจการของบุคคลใดที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย”

14 คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๒/๒๕๓๕ คดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค๑พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษา

คุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๐,๒๖ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๓๓,๓๕ จำคุก ๓ เดือน ปรับ ๕,๐๐๐ บาท ริบของกลางและให้ทำลายลานปูนซีเมนต์ของกลาง

15 อำนาจ วงศ์บัณฑิต, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่๒, หน้า๔๕๕

16 วัตถุอันตราย มีนิยามตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ มาตรา๔ เช่นวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิดฯลฯ

17 จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวในวงเสวนาระดมความคิดเห็น “ความเสียหายด้านสุขภาพในคดีสิ่งแวดล้อม:การวินิจฉัยโดยแพทย์ และการชดเชยโดยกระบวนการยุติธรรม” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ว่า”การสู้คดีสิ่งแวดล้อมต่อไปนี้เป็นการต่อสู้กับบรรษัทข้ามชาติที่มาพร้อมกระแสทุน การพิสูจน์ความเสียหายจึงควรคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยด้วยไม่เฉพาะด้านเทคนิคหรืออาศัยผู้เชี่ยวชาญ

เป็นหลัก”

18 เข็มชัย ชุติวงศ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2547), หน้า63-64.

19 สมชัย ฑีฆาอุตมากร, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (กรุงเทพฯ : หจก.จิรรัชการพิมพ์, 2547), หน้า714.

20 305 Or. 256, 751 P.2d 215(1988)

21 Jerry J. Phillips and others, Tort Law ,Cases, Materials, Problems ,(U.S.A.:Michie,1990) ,p.573

22 (1926) 42 L.Q.R. 37

23 Susan Wolf & Anna White, supra note 7, p.5

24 Nancy K. Kubasek & Gary S. Silverman, supra note6, p.54

25 พนัส ทัศนียานนท์ วุฒิสมาชิกและกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมกล่าวในที่เสวนาฯ ดังที่อ้างไว้ในเชิงอรรถที่๑๓ ว่า

“การชดเชยความเสียหายคดีสิ่งแวดล้อมเป็นดุลพินิจของศาลที่ยังมีความคิดคับแคบ ความเสียหายที่ยังไม่ปรากฏอาการและความเสียหายเสียหายทางสุขภาพจิตยังไม่พูดถึงมาก และการชดเชยมีปัญหาเพราะกำหนดตามฐานะทางสังคม คนรวยได้มากกว่าคนจน”

26 อำนาจ วงศ์บัณฑิต, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒,หน้า ๔๗๕

27 David Hughes Environmental Law ,(London:1994) ,p.35

28 จิตติ ติงศภัทิย์ , คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (กรุงเทพฯ:คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๕๒๓),หน้า ๖๑๒–๖๑๓

29 ดูพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา๒๘ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งก่อนฟ้องคดีได้

30 ภัทรศักดิ์ วรรณแสง”ลักษณะพิเศษของการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ

การค้าระหว่างประเทศ ,”วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ปีที่๓๓ เล่มที่๓(กันยายน๒๕๔๖) หน้า๕๒๑

31 26 N.Y.2d 219,257 N.E. 2d 870, 309 N.Y.S. 2d 312(1970)

32 อำนาจ วงศ์บัณฑิต , อ้างแล้วในเชิงอรรถที่๒,หน้า๔๘๓

33 ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

34 คำกราบถวายบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลของ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓

02 Feb 06 | by BioLawCom | tags บทความกฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำแนะนำในการแสดงความคิดเห็น

เชิญให้ความคิดเห็นได้ครับ
แล้วกรุณา ลงชื่อท่านใต้ข้อความของท่านด้วยนะครับ
แล้วเลือก แสดงความคิดเห็นในฐานะ
เป็นประเภท "ไม่ระบุชื่อ"
ท่านจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้