...

รับว่าความ คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีทั่วไป รับทำบัญชี ทั่วราชอาญาจักร
ติตต่อ เบอร์โทร 0-2513-1833
แฟกซ์ 0-2930-2752
อีเมล์แอดเดรส
sutthirojlaw@hotmail.com

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

จีน” กับ “กอล์ฟ” วิกฤติในโอกาส

จีน” กับ “กอล์ฟ” วิกฤติในโอกาส
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

 


กลางเดือนพฤษภาคม 2553 หนังสือพิมพ์ ลิเบอร์ตี้ ไทมส์ สื่อไต้หวันที่มีจุดยืนตรงข้ามกับการรวมจีนกับไต้หวันเป็นหนึ่งเดียว รายงานถึงความไม่พอใจของเจ้าหน้าที่ในกองทัพแห่งสาธารณรัฐจีนที่มีต่ออดีตนายพลและนายทหารของไต้หวันจำนวนหนึ่งที่มักจะเดินทางไปออกรอบตีกอล์ฟกับนายทหารระดับสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) เป็นประจำในช่วงหลัง โดยอ้างว่าเป็น “นโยบายการทูตกอล์ฟ”
“ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราจะทำให้ทหารและข้าราชการของไต้หวันที่กำลังรับใช้ชาติเชื่อได้อย่างไรว่า แผ่นดินใหญ่ยังคงเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับไต้หวัน” ทหารระดับนายพลของไต้หวันรายหนึ่งให้ทัศนะกับลิเบอร์ตี้ ไทมส์[1]
จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้ตั้งใจยกข่าวนี้ขึ้นมาเพื่อกล่าวถึงสถานะหรือพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับเกาะไต้หวันหรอกครับ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวและข้อมูลพื้นฐานแล้ว ผมรู้สึกว่า “กอล์ฟ” กับ “ประเทศจีน” นั้นเป็นส่วนผสมที่ไม่ค่อยเข้ากันนัก
เกือบ 10 ปีแล้วที่ผมมีสหายเป็นนักการทูตชาวจีนผู้หนึ่ง...
สหายชาวจีนของผมผู้นี้หลงใหลในกีฬากอล์ฟ อย่างมาก โดยเมื่อเดินทางมาธุระที่ประเทศไทยครั้งใดเขาก็มักจะหาโอกาสไปออกรอบหลายๆ วันติดกัน โดยให้เหตุผลว่า สนามกอล์ฟในจีนนั้นมีน้อย โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือของประเทศจีนที่ขาดแคลนพื้นที่ในการทำการเกษตร อีกทั้งยังประสบกับสภาวะการขาดแคลนน้ำในการดื่มกิน ใช้ในชีวิตประจำวันและสำหรับการเพาะปลูกอย่างรุนแรงอยู่เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการเล่นกอล์ฟ (กรีนฟี แคดดี้ ฯลฯ) ในประเทศจีนก็สูงลิบลิ่ว กล่าวคือ ค่ากรีนฟีในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นั้นเฉลี่ยสูงถึง 150 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,000 หยวน หรือ 5,000 บาท) ส่วนอัตราค่าแรกเข้าสมาชิกสนามกอล์ฟโดยเฉลี่ยในประเทศจีนก็สูงเสียดฟ้าถึง 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1.65 ล้านบาท![2]
ขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากร หรือ GDP (nominal) per capita ณ ปี 2552 อยู่ที่เพียงราว 3,700 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี เท่านั้นเอง
สำหรับชาวจีนแล้วกีฬากอล์ฟและรูปแบบของกีฬากอล์ฟในยุคปัจจุบันที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสกอตแลนด์นั้นมิได้เป็นสิ่งที่แปลกหูแปลกตาเสียเลยทีเดียว เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์หยวน (ราชวงศ์ที่มองโกลเป็นผู้ปกครอง ค.ศ.1271-1368) มีหนังสือหลายเล่มที่บันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวของกีฬาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ฉุยหวัน” เอาไว้
กีฬาฉุยหวัน หรือแปลสั้นๆ ได้ว่า “ตีลูก” (โดย “ฉุย” แปลว่าตี “หวัน” แปลว่าลูก) เป็นกีฬาที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับกีฬากอล์ฟในปัจจุบัน คือ ผู้เล่นต้องใช้อุปกรณ์คือไม้ตีที่ทำจากไม้หยกหรือกระทั่งทองคำ (โดยผู้เล่นคนหนึ่งๆ มีไม้หลากหลายชนิด) เพื่อตีลูกทรงกลมที่ทำจากไม้ หรือหินโมราที่มีขนาดประมาณไข่ไก่ ข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ให้ลงในหลุมที่จัดเอาไว้
จากเอกสารอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ทราบว่า “ฉุยหวัน” เป็นกีฬาที่ปรากฎขึ้นในประเทศจีนอย่างช้าที่สุดคือ ในสมัยฮ่องเต้ซ่งฮุยจง (ครองราชย์ในช่วง ค.ศ.1100-1125) แห่งราชวงศ์ซ่ง เริ่มแพร่หลายต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง โดยในสมัยราชวงศ์หมิงกีฬาชนิดนี้ถือเป็นที่รู้จักในหมู่สามัญชน ทว่ายังคงจัดเป็นกีฬาสำหรับเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูง โดยปรากฏหลักฐานเป็นภาพวาด “เซวียนจงสิงเล่อถู” ซึ่งฮ่องเต้หมิง เซวียนจง ฮ่องเต้องค์ที่ห้าแห่งราชวงศ์หมิง (ครองราชย์ช่วง ค.ศ.1426-1435) กำลังเล่นฉุยหวัน ซึ่งภาพดังกล่าวปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม[3]
ในช่วงประวัติศาสตร์ยุคใกล้และยุคปัจจุบัน กอล์ฟตะวันตกแพร่เข้ามาในแผ่นดินจีนเป็นครั้งแรก โดยชาวอังกฤษราว พ.ศ.2439 (ค.ศ.1896) โดยสนามขนาด 9 หลุมถูกสร้างขึ้นย่านใจกลางนครเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ในปี พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมา เจ๋อตง ขึ้นครองอำนาจ แน่นอนว่า กีฬาฟุ่มเฟือยอย่างกอล์ฟย่อมถูกจัดให้เป็นกีฬาของ ชนชั้นกระฎุมพี-ผู้นิยมลัทธิจักรวรรดินิยมและสูญหายไปจากสังคมจีน จนกระทั่ง พ.ศ.2527 (ค.ศ.1984) ในแผ่นดินใหญ่จึงค่อยปรากฏสนามกอล์ฟขึ้นอีกครั้ง
หลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรมและเติ้ง เสี่ยวผิง ประกาศปฏิรูปเศรษฐกิจ กอล์ฟเริ่มแพร่หลายไปในหมู่ข้าราชการชาวจีนที่มีฐานะทางการเงินที่ดีและมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง (อย่างนายพลในกองทัพปลดแอกของจีน และสหายของผมที่กล่าวมาตั้งแต่ตอนต้น) จนถึงทุกวันนี้ที่เศรษฐกิจจีนมีอัตราการเจริญเติบโตในระดับสูงติดต่อกันนับสิบปี กีฬาที่ถูกตีตราว่าเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย หรูหรา และทันสมัยชนิดนี้จึงแพร่กระจายไปสู่หมู่เศรษฐีและพ่อค้าในที่สุด
จากรายงานล่าสุดของโกลบอล ไทมส์ หนังสือ พิมพ์ภาษาอังกฤษภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อ้างอิงถึงตัวเลขจากสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศจีนระบุว่า นับถึงครึ่งปีแรกของปี 2552 ในประเทศจีนมีสนามกอล์ฟมากกว่า 500 แห่ง[4] ขณะที่ไชน่า รีลไทม์ รีพอร์ต ระบุว่าทั่วประเทศมีนักกอล์ฟราว 3 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนนักกอล์ฟ 600 คนต่อ 1 สนาม (เทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนนักกอล์ฟมากถึง 10,000 คนต่อ 1 สนาม)
เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวประกอบเข้ากับจำนวนเศรษฐีชาวจีนในปัจจุบัน ที่หูรุ่น รีพอร์ต รายงานล่าสุด (เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553) ว่าทุกวันนี้จีนแผ่นดินใหญ่มีเศรษฐีที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านหยวน (ราว 50 ล้านบาท) ขึ้นไปมากถึง 875,000 คน จะเห็นได้ชัดว่าช่องว่างและโอกาสในการเติบโตของกีฬากอล์ฟในประเทศจีน นั้นมีอีกมากมายมหาศาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิกฤติสร้างสรรค์โอกาสในโอกาสก็ย่อมก่อเกิดวิกฤติได้เช่นกัน
จากตัวเลขสนามกอล์ฟ 500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่แถบตะวันออกและทางใต้ของประเทศเช่น ปักกิ่ง มณฑลเจียงซู มณฑลกวางตุ้งและเกาะไหหลำ กระทรวงที่ดินและทรัพยากรของจีนกลับยืนยันว่ามีสนามกอล์ฟเพียง 10 แห่งเท่านั้นที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ
ประเด็นที่กลายเป็นเรื่องใหญ่และกลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมจีนในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาก็คือ กรณีที่เกิดขึ้นกับเกาะไหหลำ (ไห่หนาน) เกาะ ซึ่งรัฐบาลจีนมุ่งหวังว่าจะพัฒนาให้เป็น “ฮาวายแห่งเอเชียตะวันออก”
แต่ไหนแต่ไรมา ด้วยความที่ไหหลำเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตร้อนชื้นทำให้เกาะแห่งนี้มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และอุดมไปด้วยสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างเช่น เสือลายเมฆ ชะนีหงอนดำ อีกทั้งยังมีพื้นที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ไม้ผล ประกอบกับเป็นพื้นที่ซึ่งมีปริมาณน้ำและแสงแดดเพียงพอจึงสามารถเก็บผลผลิตได้ 2-3 ครั้งต่อปี ทว่าเมื่อทางการจีนมุ่งเป้าจะทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับสากล ด้วยความพยายามที่จะดึงงานสำคัญๆ ของโลกให้มาจัดที่เมืองซานย่า (เมืองสำคัญที่สุดของเกาะไหหลำรองจากไหโข่ว) เป็นประจำอย่างเช่น การเป็นเจ้าภาพมิสเวิลด์ในปี 2546 2547 2548 และ 2550 ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ขึ้นอย่างมากมายมหาศาลบนเกาะแห่งนี้
ตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมา โดยเฉลี่ยแล้วราคาอสังหาริมทรัพย์บนเกาะไหหลำพุ่งขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 ถึงหนึ่งเท่าตัว ทั้งนี้ทั้งนั้นหนึ่งในเครื่องมือ ชั้นยอดที่ถูกใช้ในการสร้างฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ทั่วประเทศจีน (และทั่วโลก) ก็คือการสร้างสนามกอล์ฟ โดยในประเทศจีนมีการศึกษากันว่าราคาของ อสังหาริมทรัพย์หนึ่งๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 หากโครงการนั้นอยู่รอบสนามกอล์ฟ
ปัจจัยเหล่านี้เมื่อผนวกกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความโลภของบรรดาข้าราชการและพ่อค้า บนเกาะไหหลำในหลายพื้นที่ซึ่งถูกจัดให้เป็นพื้นที่ชนบท ด้อยพัฒนาและเขตยากจนสุดขีด ส่งผลให้เกิดการรุกพื้นที่ป่าไม้และแปลงพื้นที่เกษตรกรรมให้กลายเป็นสนามกอล์ฟอย่างมากมาย จากปัจจุบันที่เกาะสวาทหาดสวรรค์แห่งทะเลจีนใต้มีสนามกอล์ฟราว 30 แห่ง มีการวางแผนว่าจะทำให้จำนวนสนาม กอล์ฟบนเกาะแห่งนี้เพิ่มขึ้นเป็น 50 แห่งและ 80-100 แห่ง ภายในสิบปีและยี่สิบปีข้างหน้าตามลำดับ
สนามกอล์ฟสร้างใหม่หลายแห่งบนเกาะไหหลำสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของ คนในท้องที่อย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น “มิชชั่น ฮิลส์ รีสอร์ต ไหหลำ” โครงการกอล์ฟที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะ ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพในการจัด The Omega Mission Hills World Cup ในปี 2554 (ค.ศ.2011) ได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและอาชีพทำการเกษตรของคนท้องถิ่นอย่างมาก ทั้งนี้ตามแผนเดิมโครงการนี้ตั้งเป้าว่าจะบรรจุสนามกอล์ฟไว้ถึง 22 สนาม แต่เพียงเริ่มการก่อสร้างได้เพียง 6 สนามก็ก่อให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียงอย่างหนัก ทั้งๆ ที่แต่ไหนแต่ไรมาพื้นที่ดังกล่าวไม่เคยประสบเหตุเช่นนี้มาก่อน[5]
“สนามกอล์ฟมีผลกระทบอย่างมหาศาล แต่ก่อนหมู่บ้านเราไม่เคยเจอน้ำท่วมมาก่อน ตอนนี้กลับท่วมปีละสามเดือน บางทีน้ำก็ท่วมถึงเอว รถยังวิ่งผ่านไม่ได้เลย” ชาวบ้านจากหมู่บ้านฉางหย่งเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสนามกอล์ฟที่เจ้าของโครงการผู้พัฒนาอ้างว่าไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ เลย
...ในประเทศอันไพศาลแต่พื้นที่ป่าไม้เหลือไม่ถึงร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด (น้อยกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกที่ราวร้อยละ 30)
...ในประเทศที่มีปากท้องต้องเลี้ยงดูทุกๆ วันกว่า 1,300 ล้านปากท้อง ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ขาดแคลน พื้นที่เพาะปลูก ทั้งยังถูกคุกคามด้วยภัยธรรมชาตินับครั้งไม่ถ้วนในแต่ละปี ทั้งภาวะแล้งจัด ดินถล่ม น้ำท่วม แผ่นดินไหว ฯลฯ
...ในประเทศที่ประเพณีดั้งเดิมอย่างการฝังศพกลายเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะรัฐบาลเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองพื้นที่ในการเพาะปลูก
คงไม่สาธยายให้มากความนัก ผมก็เชื่อว่าทุกคนคงทราบดีว่ากระแสบูมของกีฬากอล์ฟ และการสร้างสนามกอล์ฟในประเทศที่มีเงื่อนไขเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวและอันตรายเพียงไร
จริงๆ แล้วรัฐบาลจีนและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีอำนาจมิอาจทำทีเพิกเฉย หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในจุดเล็กๆ เช่นนี้ได้เลย เพราะในอนาคตกีฬาประเภทนี้อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสภาวะความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรของประเทศและภูมิภาคนี้ อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง
ข้อมูลอ้างอิงจาก:
[1] Lawrence Chung, Golf course diplomacy blows hole in army morale, South China Morning Post, 18 May 2010.
[2] Jamie Miyazaki, Golf in China: Targeting 3 Million Players, China Realtime Report, 13 May 2010.
[3] ประวัติฉุยหวันจาก www.ccnh.cn/zt/zgtyyc/gdtyxm/chuiwan/311491439.htm
[4] Golf course mania result of sub-par officials, Global Times, 17 May 2010.
[5] Jonathan Watts, All the tees in China: Golf boom threatens rainforest, guardian.co.uk, 23 April 2010.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำแนะนำในการแสดงความคิดเห็น

เชิญให้ความคิดเห็นได้ครับ
แล้วกรุณา ลงชื่อท่านใต้ข้อความของท่านด้วยนะครับ
แล้วเลือก แสดงความคิดเห็นในฐานะ
เป็นประเภท "ไม่ระบุชื่อ"
ท่านจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้