...

รับว่าความ คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีทั่วไป รับทำบัญชี ทั่วราชอาญาจักร
ติตต่อ เบอร์โทร 0-2513-1833
แฟกซ์ 0-2930-2752
อีเมล์แอดเดรส
sutthirojlaw@hotmail.com

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

อายุความของหนี้กู้ยืมที่จะต้องใช้ เงินที่จะต้องชำระเผื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ มาตรา193/33(2) ปพพ.

เรื่องเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/33 (2) นี้ เป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ค้างชำระ และต้องเป็นหนี้ที่กำหนดให้ชำระเป็นงวดๆ ในจำนวนที่แน่นอน คือหนี้ที่จะชำระเป็นงวดๆ นั้นต้องมีจำนวนที่แน่นอน สามารถกำหนดได้ เช่นงวดละ 500 หรืองวดละ 1,000 บาท หรือแต่ละงวดอาจจะมีกำหนดจำนวนที่ไม่เท่ากันก็ได้ เช่นงวดที่หนึ่งเป็นเงิน 500 บาท งวดที่สองเป็นเงิน 700 บาท  งวดที่สามเป็นเงิน 1,000 บาท อย่างนี้ถือว่าเป็นการกำหนดจำนวนที่แน่นอนแล้ว
                และกำหนดระยะเวลาชำระไว้แน่นอน เช่น ชำระหนี้ทุกสิ้นเดือน หรือทุกๆ วันที่ 1 ของทุกเดือน และกำหนดระยะเวลานี้อาจจะไม่ตรงกันทุกงวดก็ได้ เช่นงวดแรกชำระวันที่ 1 งวดที่สองชำระวันที่ 10 งวดที่สามชำระวันที่ 20 อย่างนี้ก็ได้ ขอให้มีการกำหนดเวลาไว้เท่านั้นถือว่าเป็นการกำหนดเวลาแน่นอนแล้ว ดังนั้น ในกรณีที่หนี้นั้นมีการกำหนดให้ผ่อนชำระเป็นงวดๆ ที่แน่นอน และกำหนดจำนวนเงินที่ชำระแน่นอนแล้ว การใช้สิทธิเรียกร้องในหนี้นั้นก็จะอยู่ในกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/33 คือ มีกำหนดอายุความ 5 ปี เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 581/2494 “ทำสัญญากู้กันแล้วตกลงกันให้ผ่อนส่งคืนเป็นงวดๆ นั้น เป็นเรื่องอยู่ภายในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 (193/33 (2)) มีอายุความ 5 ปี “ฎีกานี้ศาลฎีกาเห็นว่า การเรียกเอาจำนวนเงินอันพึงส่งมอบจากดอกเบี้ยเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ก็ดี ตาม ป.พ.พ. 166 (193/33 (2)) นั้น มุ่งหมายตลอดถึงเงินกู้ที่คู่สัญญาตกลงกันให้ผ่อนส่งคืนเป็นงวดๆ ด้วย หาใช่ต้องผ่อนส่งทั้งดอกเบี้ยพร้อมกับต้นเงินด้วยไม่
                คำพิพากษาฎีกาที่ 1949/2517 จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ครั้นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2506 จำเลยทำหนังสือรับรองหนี้สินว่ายังเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวนหนึ่ง และยอมผ่อนชำระให้โจทก์เป็นรายเดือนภายในสิ้นเดือนของทุกๆ เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2506 เป็นต้นไป ถือได้ว่าหนังสือรับรองหนี้สินดังกล่าวนี้ โจทก์จำเลยตกลงเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้ใหม่ โดยเรียกเอาดอกเบี้ยค้างส่งและเรียกเอาจำนวนเงินอันจะพึงส่งเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องต้นเงินคืนได้แต่ละงวด งวดละเดือน เริ่มแต่วันที่ 31 มีนาคม 2506 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2508 เป็นงวดสุดท้าย แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2513 เป็นเวลาเกิน 5 ปี นับแต่กำหนดวันชำระงวดสุดท้ายเป็นต้นมา ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 (193/33 (2))
                คำพิพากษาฎีกาที่ 192/2523 ตามสัญญากู้ ต้นเงินกู้นั้นได้มีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนส่งได้เป็นรายเดือนๆ ละ 500 บาท ดังนั้น ถือได้ว่าการฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระต้นเงินตามสัญญากู้นั้นเป็นการเรียกเอาจำนวนเงินอันพึงส่งนอกจากดอกเบี้ย เพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวดๆ อันมีกำหนดอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 (193/33 (2))
                เห็นไหมครับ สัญญากู้เงินตามที่ผมกล่าวมาข้างต้น มีอายุความใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปีอย่างที่เราเข้าใจกันมาตลอด ทั้งนี้มีคำพิพากษาฎีกายืนยันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2594 กว่า 55 ปีแล้ว คราวนี้เจ้าหนี้เงินกู้ที่ยอมปล่อยให้ดอกเบี้ยเดินไปถึงเกือบ 10 ปีค่อยนำมาฟ้องเรียกเงินกู้คืน เจอลูกหนี้ที่รู้เรื่องนี้แล้วยกเป็นข้อต่อสู้ไว้อาจจะหนาวแล้วล่ะ โดยเฉพาะกับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินที่ชอบปล่อยให้ดอกเบี้ยเดินไปเรื่อยๆ จนเกินกว่า 5 ปีแล้วค่อยมาฟ้องลูกหนี้ ระวังให้ดี…!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำแนะนำในการแสดงความคิดเห็น

เชิญให้ความคิดเห็นได้ครับ
แล้วกรุณา ลงชื่อท่านใต้ข้อความของท่านด้วยนะครับ
แล้วเลือก แสดงความคิดเห็นในฐานะ
เป็นประเภท "ไม่ระบุชื่อ"
ท่านจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้