...

รับว่าความ คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีทั่วไป รับทำบัญชี ทั่วราชอาญาจักร
ติตต่อ เบอร์โทร 0-2513-1833
แฟกซ์ 0-2930-2752
อีเมล์แอดเดรส
sutthirojlaw@hotmail.com

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

กีฬากอล์ฟกับงานบริหารองค์กร

 

เดอะ รอยัล โทรฟี่ ที่สนามอมตะ สปริง ชลบุรี ชิงถ้วยรางวัลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแข่งขันระหว่างทีมนักกอล์ฟอาชีพจากยุโรปและเอเชียเริ่มแล้ว วันนี้ (8 ม.ค 52) เป็นการแข่งขันวันที่สอง วันอาทิตย์คงรู้ผลว่าทีมใดจะเป็นฝ่ายชนะ ส่วนไรเดอร์ คัพ เป็นการดวลระหว่างทีมยุโรปและอเมริกา จะเริ่มแข่งขันเดือนหน้า

ใครจะแพ้ใครจะชนะในสองทัวร์นาเมนต์นั้น ไม่สำคัญ แต่ผมว่าเกมส์กอล์ฟกับการบริหารจัดการองค์กร มีอะไรที่เหมือนๆกันอยู่นะครับ ลองอ่านเล่นๆดูแล้วจะรู้

การบริหารจัดการองค์กรที่มีพลวัตรสูง ท่ามกลางความคาดหวังและบรรยากาศการแข่งขันที่แหลมคมรอบด้านทั้งภายในและภายนอก เป็นความท้าทายพอๆกับทีมนักกอล์ฟกำลังลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ ท่ามกลางแรงกดดันรอบด้าน ทั้งแรงกดดันภายในของกีฬาเองและจากสายตา ความคาดหวังของผู้ชมในสนามและหน้าจอโทรทัศน์ รวมทั้งแรงกดดันจากอุปสรรคขวากหนามในสนามกอล์ฟเอง เช่น ต้นไม้ หญ้ายาว หลุมทราย ระยะทางที่ยาวเหยียดและแต้มที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าในแต่ละหลุม

การเล่นกอล์ฟให้ได้ดี ต้องใช้ใจที่เด็ดเดี่ยว มั่นคง แต่สงบ ผ่อนคลาย มีสมาธิ รู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง มีพละกำลังและฝีมือที่เยี่ยมยอดจากการฝึกฝนตนเองอย่างหนัก มีความละเอียดรอบคอบ ไม่มองข้ามรายละเอียดปลีกย่อย เพราะเรื่องเล็กๆน้อยๆสามารถเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันได้ นอกจากนี้ต้องรู้จักวางแผน หากไม่เป็นไปตามแผนต้องรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และข้อสำคัญต้องมีโชคช่วย

นักกอล์ฟที่ดี จึงต้องมีสมาธิ รู้จักควบคุมจิตใจให้อยู่กับปัจจุบัน (now) อย่างสงบและมั่นคงที่สุด คือไม่ปล่อยให้ใจเตลิดไปคาดคะเนผลคะแนนล่วงหน้า (ข้าต้องทำให้ได้) หรือ จมปลักอยู่กับความผิดพลาดของการเล่นที่ผ่านไปแล้ว (ไม่น่าเป็นอย่างนั้นเลย) หรือแม้กระทั่งหลงติดอยู่กับความสำเร็จที่ผ่านมา (เจ๋งว่ะ) แต่จะต้องคิดเรื่องการเล่นแต่ละครั้ง(ช็อต)ให้ดีที่สุด หากเจอปัญหาอุปสรรคก็ต้องแก้กันแบบช็อตต่อช็อต

ความผิดพลาดของที่ผ่านไปแล้ว สามารถแก้ไขได้ด้วยการลบภาพความผิดพลาดล้มเหลวออกไปจากใจให้เร็วที่สุดและเล่นช็อตต่อไปให้ดีที่สุด ส่วนความสำเร็จของช็อตที่ผ่านมา ก็มิใช่หลักประกันความสำเร็จของการเล่นในช็อตต่อไปเพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะเมื่อคุณตีลูกออกจากไปจากจุดเดิม และเริ่มต้น ณ จุดใหม่ ภาพที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า มันเปลี่ยนไปแล้ว

เช่น หลังจากตีลูกออกมาจากแท่นทีออฟ ลูกบอลอาจจะไปตกอยู่กลางหรือข้างแฟร์เวย์ มีหญ้ายาวเป็นอุปสรรค ข้างหน้ามีน้ำขวาง หรือตกในบ่อทราย หญ้ายาว ทุกอย่างเป็นไปได้หมด การเล่นในช็อตต่อไป อยู่ที่การวางแผนและการตัดสินใจของผู้เล่นเองว่าจะเลือกเล่นแบบไหน จะเลือกหยิบอุปกรณ์ชิ้นไหนในถุงกอล์ฟที่มีอยู่ตั้ง 14 ชิ้น ผู้เล่นต้องตัดสินใจเองทั้งหมด โดยพิจารณาถึงกลยุทธ์การเล่นในแต่ละช็อต ระดับความสามารถของตัวเอง ศักยภาพของอุปกรณ์ รวมทั้งทิศทางที่ต้องการให้ลูกพุ่งไป หากไม่แน่ใจ อาจจะต้องปรึกษาผู้ช่วย (แคดดี้) ซึ่งอาจให้ข้อมูลคำแนะนำจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา แต่ทั้งหมดผู้เล่นต้องตัดสินใจเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะผลงานที่เกิดขึ้นถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เล่นเอง

หากเกิดความผิดพลาด ห้ามโทษคนอื่น และห้ามเล่นแบบดันทุรัง เพราะจะเสียหายหนักกว่าเดิม (หากเล่นผิดพลาดบ่อยๆกีฬากอล์ฟจะมีแต้มโชว์ความผิดพลาดให้เห็นทันที) แต่จะต้องแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้นด้วยจิตใจที่สุขุม เยือกเย็นและมีสติ เช่น เมื่อตีลูกเข้าป่า ซึ่งนับเป็นอุปสรรคที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับเกมส์มากที่สุด ผู้เล่นจะต้องไม่ทำฮึดฮัด ดันทุรังเพื่อจะตีลูกข้ามต้นไม้เพื่อเอาระยะแบบหวังฟลุค (ยกเว้นมีช่องและไว้ใจฝีมือของตัวเองได้) แต่จะต้องยอมเสียระยะ ด้วยการเคาะลูกออกมาจากป่า เพื่อให้สามารถเล่นช็อตต่อไปได้ง่ายขึ้น หากดันทุรัง ลูกกอล์ฟอาจจะชนกิ่งไม้ กลิ้งไปตกน้ำ กว่าจะเอาออกจากอุปสรรคได้ อาจถูกลงโทษเสียคะแนนความผิดพลาดไปถึงสองหรือสามคะแนน ซึ่งถือเป็นความเสียหายใหญ่หลวง ยอมเสียน้อยๆ ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า

ถ้าหากไม่ใช่การแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ที่สำคัญและมีผลได้ผลเสีย คนเล่นกอล์ฟจะต้องเป็นกรรมการให้ตัวเองกีฬากอล์ฟมีกฎกติกาที่ละเอียด หยุมหยิมมากมาก การแสดงออกในสนามกอล์ฟ สามารถบ่งบอกนิสัย ทัศนคติและวุฒิภาวะทางอารมณ์ของบุคคลๆนั้นได้เลย หากผู้เล่นไม่ซื่อสัตย์ จะโกงตัวเองเพื่อให้สกอร์ดูดีขึ้น ก็คงไม่มีใครไปจ้องจับผิด แต่ไม่ว่าจะทำอะไรลงไป คนเล่นนั่นแหละคือ คนที่รู้ดีที่สุด

ตัวอย่างเช่น ห้ามมิให้ดัดแปลงผลงานของตัวเอง ตีลูกไปตกที่จุดไหน ต้องเล่นจากจุดนั้น เล่นต่อไม่ได้ต้องเสียแต้ม ก่อนได้รับอนุญาตให้วางลูกเพื่อเล่นช็อตใหม่ แต่บางครั้ง ถ้าหากผู้เล่นจะเขี่ยลูกให้มาอยู่ในตำแหน่งที่ตีได้ง่ายขึ้น จะต้องเสียหนึ่งแต้ม แต่บางคนอาจทำไม่รู้ไม่ชี้ เขี่ยลูกมาวางในจุดที่ต้องการ อย่างนี้ถือว่า โกหกตัวเอง ไม่เคารพผลการกระทำของตัวเอง เอาเปรียบคนอื่น และเป็นบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ หากเป็นไปตามกติกาสากลคือ จะต้องถูกปรับให้แพ้และออกจากการแข่งขัน การทำผิดเรื่องเล็กๆน้อยๆในเกมส์กีฬากอล์ฟถือเป็นเรื่องใหญ่ทั้งสิ้น คนเล่นจึงต้องซื่อสัตย์ต่อผลการกระทำของตัวเอง ไม่ปกปิด ซ่อนเร้น อำพราง หรือทำเนียนเฉไฉเล็กๆน้อยๆเพื่อเอาเปรียบคนอื่น หรือเพื่อเบี่ยงเบนให้ผลการแข่งขันเอียงเข้าข้างตัวเอง

นักกอล์ฟที่ดีกับนักบริหารองค์กรที่ดีเหมือนกันอย่างไร ผมว่าคล้ายคลึงกันมากครับ โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่ข้างในของคน คือ เราต้องการนักบริหารที่เป็นนักยุทธศาสตร์แบบนักกอล์ฟที่เป็นนักวางแผนการเล่น มองภาพใหญ่ แต่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย รู้จักความสามารถของตนเอง รู้จักใช้เครื่องมือ ตัดสินใจ สามารถรับแรงกดดันและรับผลที่เกิดขึ้นโดยไม่โยนความผิดไปให้ผู้อื่น ข้อสำคัญความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ทำให้ทั้งนักกอล์ฟและผู้บริหารองค์กร เป็นผู้มีเกียรติเชื่อถือได้

แต่เราคงหาคนที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่ได้ แม้แต่ไทเกอร์ วูด ยังเก่งไม่ได้ตลอด ในเมื่อทุกอย่างมีจังหวะ มีเวลาของมัน เราต้องเป็นผู้ชมที่ดี คือปรบมือให้กำลังใจเมื่อเขาทำสำเร็จ เอาใจช่วยให้เขาแก้ตัว เมื่อเขาทำผิดพลาด ถ้าคอยจับจ้องดูแต่ความผิดพลาดของคนอื่น ชาตินี้ทั้งชาติคงหาความสุขในชีวิตไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำแนะนำในการแสดงความคิดเห็น

เชิญให้ความคิดเห็นได้ครับ
แล้วกรุณา ลงชื่อท่านใต้ข้อความของท่านด้วยนะครับ
แล้วเลือก แสดงความคิดเห็นในฐานะ
เป็นประเภท "ไม่ระบุชื่อ"
ท่านจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้