...

รับว่าความ คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีทั่วไป รับทำบัญชี ทั่วราชอาญาจักร
ติตต่อ เบอร์โทร 0-2513-1833
แฟกซ์ 0-2930-2752
อีเมล์แอดเดรส
sutthirojlaw@hotmail.com

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

ขอให้ยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากีฬากอล์ฟ

คำถาม ขอให้ยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากีฬากอล์ฟ
คำตอบ กรมสรรพสามิตได้พิจารณาแล้ว ขอเรียนดังนี้
1. ลักษณะทั่วไปของภาษีสรรพสามิต
“ภาษีสรรพสามิต” เป็นภาษีทางอ้อมที่ผู้เสียภาษีสามารถผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคสินค้าและบริการได้ โดยจัดเก็บจากสินค้าและบริการเฉพาะอย่าง ซึ่งมีเหตุผลสมควรที่จะต้องรับภาระภาษีเพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีจากการขายสินค้าและให้บริการทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรการบริโภคที่เหมาะสม เช่น จำกัดการบริโภคสินค้าและบริการที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี จำกัดการบริโภคสินค้าและบริการที่มีลักษณะเป็นของฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นในการบริโภคหรือสินค้าและบริการที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อส่งเสริมฐานะการคลัง เช่น สินค้าและบริการที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากกิจการของรัฐ
2. หลักการในการตราพระราชกำหนด
หลักการในการตราพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 คือ แก้ไขเพิ่มเติมตอนที่ 9 สถานบริการของพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 โดยแบ่งใหม่เป็น 5 ตอน ซึ่งสนามกอล์ฟกำหนดไว้ใน ตอนที่ 11 กิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้กำหนดลักษณะบริการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกำหนดพิกัดอัตราภาษีไว้จำนวน 2 ประเภท คือ พิกัดประเภทที่ 11.01 และ 11.90 ซึ่งพิกัดประเภทที่ 11.90 นี้เป็นพิกัดอื่นๆ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
3. เหตุผลในการตราพระราชกำหนด
เหตุผลในการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 คือ โดยที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป การกำหนดให้ประเภทการประกอบกิจการด้านบริการในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ไม่อาจตอบสนองการบริการการคลังของรัฐในส่วนรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสมควรกำหนดให้บริการบางประเภทที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ หรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วย จึงมีความจำเป็นต้องขยายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับการประกอบกิจการด้านบริการ โดยกำหนดประเภทบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีสรรพสามิตในบทบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น
4. ประเด็นตามคำร้องของสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทยและคณะที่ต้องพิจารณาว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้สนามกอล์ฟเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากีฬากอล์ฟและการส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น มีดังนี้
4.1 กิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามที่ตราไว้ในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นลักษณะบริการ หมายความว่า การประกอบกิจการที่ผลกระทบต่อดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ เช่น สนามกอล์ฟ รัฐได้นำหลักการและเหตุผลในเชิงของเศรษฐศาสตร์ เรื่องของการสร้างความสมดุลในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติระหว่างกิจการสนามกอล์ฟ กับกิจการภาคเกษตร ที่อาศัยปัจจัยการผลิตอย่างเดียวกัน ภายใต้ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน ผลตอบแทนของธุรกิจสนามกอล์ฟดีกว่าผลตอบแทนของกิจการภาคเกษตร สนามกอล์ฟจึงสามารถแย่งทรัพยากรที่ดินจากการเกษตรไปใช้โดยไม่คำนึงถึงดุลยภาพทางสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หากไม่มีการแทรกแทรงจากภาครัฐแลัว จะส่งผลต่อการจัดสรรปัจจัยการผลิตและผลผลิตของภาคเกษตรในอนาคต ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญระหว่างกิจกรรมสนามกอล์ฟและกิจการภาคเกษตรมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ การจัดสรรทรัพยากรดิน และน้ำ
(1) การจัดสรรทรัพยากรดิน สนามกอล์ฟเป็นกิจการที่มนุษย์จัดทำขึ้นเพื่อการกีฬาและนันทนาการ เป็นการจำลองระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ สถานที่ตั้งสนามกอล์ฟใช้พิ้นดินที่มีความสมบูรณ์ประเภทเดียวกับกิจกรรมทางการเกษตรประกอบกับกิจการสนามกอล์ฟ เป็นกิจกรรมที่มีผลตอบแทนสูงกว่ากิจการทางการเกษตร จึงทำให้พื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อกิจกรรมทางการเกษตรน้อยลง
(2) การจัดสรรทรัพยากรน้ำ พื้นที่ส่วนใหญ่ของสนามกอล์ฟจะปลูกหญ้ารักษาหน้าดินประเภทต่างๆ เพื่อจำลองดุลยภาพทางสิ่งแวดล้อม หญ้าประเภทต่างๆ เหล่านี้ ทำหน้าที่เพียงปกป้องดินไม่ให้ถูกชะล้างจากฝนตกตามธรรมชาติ แต่ไม่สามรถสร้างดุลยภาพอย่างแท้จริงได้ ประกอบกับการจำลองดุลยภาพดังกล่าวต้องอาศัยทรัพยากรน้ำในปริมาณมาก จึงทำให้ปริมาณที่สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมทางการเกษตรลดน้อยลง ประกอบกับประเทศไทยยังไม่มีพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำที่กำหนดสิทธิในการใช้น้ำระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และกิจการสนามกอล์ฟ
4.2 ภาษีสรรพสามิตจึงนำหลักการดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์กำหนดให้กิจการสนามกอล์ฟเข้ามาอยู่ในพระราชบัญญัติพิกัดภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527
5. การแก้ไขหรือยกลิกกฎหมายที่กำหนดให้สนามกอล์ฟเป็นบริการที่อยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตนั้น จะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาของรัฐสภาและจะต้องมีเหตุผลรองรับที่เป็นรูปธรรม สามารถอธิบายต่อสังคมได้ ซึ่งตามเหตุผลของสมาคมกอล์ฟฯ ที่กล่าวอ้างว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการสนามกอล์ฟและเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนากีฬากอล์ฟและการส่งเสริมการท่องเที่ยวไม่เพียงพอที่จะแก้ไขหรือยกเลิกการจัดเก็บภาษีสนามกอล์ฟ ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 ได้
ดังนั้น ด้วยหลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้นพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 จึงกำหนดให้สนามกอล์ฟเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสิงแวดล้อม ซึ่งต้องจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยกรุณาสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2241-5600-19 ต่อ 2342

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำแนะนำในการแสดงความคิดเห็น

เชิญให้ความคิดเห็นได้ครับ
แล้วกรุณา ลงชื่อท่านใต้ข้อความของท่านด้วยนะครับ
แล้วเลือก แสดงความคิดเห็นในฐานะ
เป็นประเภท "ไม่ระบุชื่อ"
ท่านจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้