...

รับว่าความ คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีทั่วไป รับทำบัญชี ทั่วราชอาญาจักร
ติตต่อ เบอร์โทร 0-2513-1833
แฟกซ์ 0-2930-2752
อีเมล์แอดเดรส
sutthirojlaw@hotmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

บัตรสนเท่ห์กับการร้องเรียน (2ตอน) (ราชการแนวหน้า)

 

บัตรสนเท่ห์กับการร้องเรียน

1. ในแวดวงราชการ หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนก็ตาม ย่อมจะมีการร้องเรียน กล่าวหาข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างอยู่เสมอ หน่วยงานเหล่านั้นก็จะมีการดำเนินการสืบสวนหาข้อมูลเบื้องต้นเสียก่อนที่จะดำเนินการประการอื่นต่อไปตามอำนาจหน้าที่

2. ประการสำคัญนี้แหละเป็นที่มาของเรื่องที่จะหยิบยกกันมาบอกกล่าว เพราะการร้องเรียนกล่าวหากัน มีทั้งผู้ที่กล้าเปิดเผยตัวเอง หรือไม่เปิดเผยตัวเองมาในรูปแบบของบัตรสนเท่ห์ไม่ลงชื่อหรือลงชื่อไม่จริงก็ได้ บางครั้งก็เป็นตัวพิมพ์ บางครั้งก็เป็นลายมือบ้าง ผู้ที่ถูกร้องเรียนหรือกล่าวหา ก็มักจะต้องการทราบข้อความในหนังสือร้องเรียน หรือต้องการดูลายมือของผู้เขียน

3. ในประเด็นนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการร้องเรียนกล่าวโทษข้าราชการไว้โดยสรุปว่า

1) เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับเรื่องกล่าวโทษ ให้ถือเป็นความลับหากเป็นบัตรสนเท่ห์ ให้พิจารณาเฉพาะรายที่ระบุหลักฐาน กรณีแวดล้อมปรากฏชัดแจ้ง ตลอดจนชี้พยานบุคคลแน่นอนเท่านั้น

2) ให้ส่งสำนวนเรื่องดังกล่าวโดยปิดชื่อผู้ร้องให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวโทษดำเนินการสืบสวนทางลับ หากไม่มีมูล ก็ให้ยุติเรื่องหากกรณีมีมูล ก็ให้ดำเนินการทั้งคดีอาญาและวินัยแล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาที่ส่งเรื่องมาทราบด้วย

3) ให้ผู้บังคับบัญชาที่รับเรื่องร้องเรียนแจ้งผู้ร้องทราบในทางลับ

4) ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจสั่งการที่สมควรเพื่อคุ้มครองผู้ร้องพยานหรือผู้ให้ข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน อย่าให้ต้องรับภัย หรือความไม่ชอบธรรมอันเนื่องมาจากการนั้นด้วย ดูรายละเอียดที่ (หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0206/ว 218 ลงวันที่ 25 ธันวาคม ) และที่ นร 0205/ว 31 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542)

4. ทีนี้มีปัญหาขึ้นมาว่า หากผู้ถูกร้องเรียนกล่าวหาหรือกล่าวโทษ ประสงค์จะขอสำเนา หนังสือร้องเรียนหรือบัตรสนเท่ห์หรือรายงานการสืบสวนข้อเท็จจริงเหล่านั้น ทาง ราชการจะต้องสำเนาให้หรือไม่

5. ปัญหาประการนี้ ส่วนราชการก็จะปฏิเสธตามมติคณะรัฐมนตรีประกอบพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ผู้ร้องขอจึงไปอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

6. คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีมติในประเด็นดังกล่าว โดยสรุปดังนี้

1) บัตรสนเท่ห์ กรณีนี้เกี่ยวกับการใช้ชื่อสกุลใหม่ การส่งบัตรสนเท่ห์เป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์แก่ทางราชการ ทำให้การใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และยังเป็นหน้าที่พลเมืองดีพึงกระทำ และสมควรได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องพิจารณาว่าการส่งบัตรสนเท่ห์ดังกล่าว มีมูลเหตุมาจากกรณีใด และกรณีนี้บัตรสนเท่ห์เขียนด้วยลายมือ อาจทำให้ทราบได้ว่าผู้ใดเขียน การที่ส่วนราชการสั่งไม่เปิดเผย จึงชอบแล้ว (คำวินิจฉัยที่ สค 83/2545)

2) หนังสือร้องเรียน กรณีนี้ข้อมูลตามหนังสือเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่ผู้ให้มาไม่ประสงค์ให้นำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น ตามมาตรา 15(6) และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ และไม่ปรากฏข้อมูลใดเกี่ยวกับผู้อุทธรณ์แต่มีลักษณะเป็นการร้องขอความช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว และไม่มีข้อความใดที่ผู้อุทธรณ์จำต้องทราบเพื่อปกป้องสิทธิของตน (คำวินิจฉัยที่ สค 59/2545)

3) การสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีนี้การสืบสวนข้อเท็จจริงเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่จะดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเรื่องใด เรื่องหนึ่งไม่ว่าจะมีการร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ อีกประการหนึ่งคณะกรรมการสืบสวน(สอบสวน) ข้อเท็จจริงก็ได้สรุปข้อร้องเรียนให้ทราบแล้ว อีกทั้งกรณีนี้เป็นการสืบสวนข้อเท็จจริงมิใช่สอบสวนทางวินัย และการดำเนินการก็ยังไม่แล้วเสร็จ อาจทำให้มีการรบกวนต่อพยานหลักฐานได้ การที่ส่วนราชการปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นชอบแล้ว (คำวินิจฉัยที่ สค 33/2545)

บัตรสนเท่ห์กับการร้องเรียน (2)

7. ครั้งที่แล้วบอกกล่าวกันถึงเรื่องบัตรสนเท่ห์และการร้องเรียนกล่าวหาว่าข้าราชการกระทำผิดวินัยพร้อมกับบอกกล่าวถึงการร้องขอสำเนาบัตรสนเท่ห์ สำเนาการสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่เพียงใด ครั้งนี้ก็จะขอนำกรณีศึกษามาบอกกล่าวฝากไว้เป็นอุทธาหรณ์เพิ่มเติม เพื่อจะได้ตั้งหลักได้ว่าจะสมควรดำเนินการหรือ ประการใด

8. เริ่มกันที่เรื่องร้องเรียนกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ของทางราชการคัดชื่อผู้มีชื่อในทะเบียนออกโดยมิชอบ การสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยุติลงแล้ว ผู้ถูกคัดชื่อออกจากทะเบียนจึงร้องขอสำเนารายงานผลสอบข้อเท็จจริงและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น บันทึกคำให้การของบุคคลเป็นต้น แต่ทางราชการปฏิเสธ ชาวบ้านรายนี้จึงอุทธรณ์

คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารพิจารณาแล้วเห็นว่า

คำให้การของบุคคลเป็นคำให้การของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการในเรื่องนี้และเนื้อหาไม่น่าจะทำความเสื่อมเสียหรือมีการดูถูกดูหมิ่น ประกอบเรื่องนี้เสร็จเรียบร้อยแล้วและผู้อุทธรณ์เป็นผู้ร้องเรียนและมีส่วนได้เสียโดยตรง จึงมีความชอบธรรมที่จะขอตรวจสอบและจะทำให้ทางราชการได้รับการยอมรับว่าได้ดำเนินการไปโดยโปร่งใส และเป็นธรรมและตรวจสอบได้ จึงมีมติให้เปิดเผย (คำวินิจฉัยที่ สค. 24/2547)

9. ปัญหาเกี่ยวกับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ปปช. ก็มีการวินิจฉัยไว้เช่นกัน

คณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารพิจารณาแล้วเห็นว่า สำนวนไต่สวนของคณะกรรมการ ปปช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของส่วนราชการ ไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ปปช. และส่วนราชการ และไม่ทำให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานทั้งสองเสื่อมประสิทธิภาพ ประกอบกับเรื่องนี้ยุติแล้ว อีกทั้งไม่มีพฤติการณ์ใด ปรากฎว่าการเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด จึงมีมติให้เปิดเผยสรุปรายงานการไต่สวนของ ปปช. ความเห็นของอนุ ปปช.และคณะกรรมการ ปปช. คำให้การพยานบุคคล เอกสาร และความเห็นผู้เกี่ยวข้องด้วย (คำวินิจฉัยที่ สค 10/2547)

10. ส่วนในกรณีมีการร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ “ระฆัง...จากใจนายกรัฐมนตรี” จะขอให้เผยชื่อผู้ร้องเรียนกล่าวหาจะได้หรือไม่ เพียงใด ตรงนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าการร้องเรียนผ่านระบบสารสนเทศ ผู้ร้องเรียนอาจใช้ชื่อจริงหรือแอบอ้างชื่อของผู้อื่นได้ จึงไม่อาจตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าผู้ร้องเรียนเป็นใคร การเปิดเผยชื่อผู้ร้องเรียนอาจทำให้บุคคลนั้นได้รับความเดือดร้อนเสียหายได้ เมื่อคำนึงถึงเรื่องการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและประโยชน์สาธารณะ จึงมีมติให้ยกอุทธรณ์ คือไม่เปิดเผยได้ (คำวินิจฉัยที่ สค.88/2548)

11. ก็เป็นข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจนะครับ จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องและเหมาะสมครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำแนะนำในการแสดงความคิดเห็น

เชิญให้ความคิดเห็นได้ครับ
แล้วกรุณา ลงชื่อท่านใต้ข้อความของท่านด้วยนะครับ
แล้วเลือก แสดงความคิดเห็นในฐานะ
เป็นประเภท "ไม่ระบุชื่อ"
ท่านจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้