...

รับว่าความ คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีทั่วไป รับทำบัญชี ทั่วราชอาญาจักร
ติตต่อ เบอร์โทร 0-2513-1833
แฟกซ์ 0-2930-2752
อีเมล์แอดเดรส
sutthirojlaw@hotmail.com

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ป.วิแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1248/2546
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้ไปฝ่ายเดียวอันเนื่องมาจากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณาและอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ขาดนัดพิจารณา ทั้งห้ามโจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีด้วย หากโจทก์เห็นว่าการที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไปนั้นเพราะหลงผิดเนื่องจากโจทก์ยังไม่ทราบกำหนดวันนัดสืบพยาน โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ถ้าศาลยกคำร้องที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโจทก์ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นต่อไปได้เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลที่ยกคำร้องฉบับแรกของโจทก์ที่ขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโจทก์คงมีสิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ใหม่ภายในอายุความเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5612/2540
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอ้างว่า จำเลยไม่เคยแต่งตั้งให้ ว. เป็นทนายความการที่ว.อ้างว่าเป็นทนายความของจำเลย ขอรับสำเนาคำฟ้องแทน และแถลงว่าโจทก์จำเลยตกลงกันได้เป็นความเท็จ เป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอม เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายหากความจริงเป็นดังที่จำเลยอ้างย่อมถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่งแต่จำเลยต้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้นไม่ช้ากว่าแปดวันนับแน่วันที่จำเลยทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตามวรรคสอง การที่จำเลยได้ยื่นคำร้องกล่าวหาว่า โจทก์และว.ละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากพฤติการณ์ของ ว. ที่อ้างว่าเป็นทนายของจำเลยขอรับสำเนาคำฟ้อง และขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ลายมือชื่อจำเลยในใบแต่งให้ ว. เป็นทนายความเป็นลายมือชื่อปลอม ซึ่งโจทก์รู้เห็นด้วย แสดงว่าจำเลยทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบตั้งแต่วันที่ยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นอย่างช้า ดังนี้เมื่อจำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้นเมื่อเกินกว่าแปดวัน จึงไม่ชอบตามมาตรา 27 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2551
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 นำใบแต่งทนายความซึ่งไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กับจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่เคยแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นทนายความ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องดังกล่าว ย่อมมีผลให้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น ไม่ชอบ ต้องถูกเพิกถอนเฉพาะส่วนเพื่อไม่ให้ผูกพันโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างอยู่ในตัวว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ปฏิบัติ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบ ร้อยของประชาชนตามมาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอน การพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องตามมาตรา 131 (2)
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2551
คำร้องของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยวิธี การประกาศหนังสือพิมพ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการยกข้ออ้างที่ทำให้จำเลยไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง การที่จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยก็ชอบที่จะยกข้อคัดค้านในเรื่องผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างภายใน เวลาไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็น มูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2550
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าถูกฟ้องเนื่องจากไม่เคยได้รับหมายและไม่เคยแต่งทนายความให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ลายมือชื่อในใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 2 เป็นลายมือชื่อปลอมโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2 กระบวนพิจารณานับตั้งแต่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวนั้นต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องล่วงเลยเวลา 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5118/2549
ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายกล่าวอ้างว่าการส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องของธนาคารผู้รับจำนองที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างพฤติการณ์การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญติในข้อที่ว่าด้วยการส่งคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้ แม้เป็นระยะเวลาภายหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เมื่อตามคำร้องผู้ร้องยอมรับว่าได้ทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 การที่ผู้ร้องเพิ่งยื่นคำร้องยกข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2546 อันเป็นเวลาเกินกว่า 8 วัน จึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5186/2548
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ที่กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเกิดจากมูลแห่งข้ออ้างนั้นใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา ดังนั้นคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีที่สั่งโดยผิดระเบียบ โดยอ้างว่าการที่ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาลโดยให้เหตุผลว่าป่วย ถือว่าโจทก์มาศาลและแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบแล้ว ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดีเพราเหตุโจทก์ไม่มาศาล จึงอยู่ในบังคับแห่งระยะเวลา 8 วัน ที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6916/2538
จำเลยที่2ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การโดยขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้แก่จำเลยที่3ถึงที่11ด้วยแต่คำร้องดังกล่าวระบุชัดว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่2แต่เพียงผู้เดียวมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่3ถึงที่11ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การโดยมิได้แต่งทนายความให้ถูกต้องอันจะต้องพิจารณาบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา18และมิใช่กรณีที่จำเลยที่3ถึงที่11จะพึงให้สัตยาบันในภายหลังได้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของจำเลยที่2ให้ขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้แก่จำเลยที่3ถึงที่11ด้วยและมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่3ถึงที่1เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องทั้งตามพฤติการณ์ยังไม่อาจถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจอันเป็นอำนาจของศาลเองอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การและสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่3ถึงที่11เนื่องจากมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด15วันตามกฎหมายจึงเท่ากับกับศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวทั้งหมดซึ่งในกรณีนี้โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยที่3ถึงที่11ขาดนัดยื่นคำให้การก็มิใช่ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบอันจะต้องยกขึ้นกล่าวไม่ช้ากว่า8วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา27วรรคสองแต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยอาศัยอำนาจของศาลเองตามมาตรา27วรรคแรกซึ่งไม่อยู่ในบังคับของระยะเวลา8วันตามมาตรา27วรรคสอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำแนะนำในการแสดงความคิดเห็น

เชิญให้ความคิดเห็นได้ครับ
แล้วกรุณา ลงชื่อท่านใต้ข้อความของท่านด้วยนะครับ
แล้วเลือก แสดงความคิดเห็นในฐานะ
เป็นประเภท "ไม่ระบุชื่อ"
ท่านจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้