...

รับว่าความ คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีทั่วไป รับทำบัญชี ทั่วราชอาญาจักร
ติตต่อ เบอร์โทร 0-2513-1833
แฟกซ์ 0-2930-2752
อีเมล์แอดเดรส
sutthirojlaw@hotmail.com

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รายงานการประชุมคณะกรรมการสาธารณสุข ครั้งที่ 54-2/2552 วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2552

รายงานการประชุมคณะกรรมการสาธารณสุข

ครั้งที่ 54-2/2552

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2552

ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย

อาคาร 1 ชั้น 2 ตึกกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี

******************************

คณะกรรมการผู้มาประชุม

1. นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา

แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ประธานการประชุม

2. นพ.มานิตย์ ธีระตันติกานนท์

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

กรรมการ

3. นายวรศาสน์ อภัยพงษ์

แทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

กรรมการ

4. นางมาลี พงษ์โสภณ

แทนอธิบดีกรมควบคุมโรค

กรรมการ

5. นายไพโรจน์ แก้วมณี

แทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

กรรมการ

6. นางพรทิพย์ จิรศรีสกุล

แทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

กรรมการ

7. นายวินัย ลัฐิกาวิบูลย์

แทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

กรรมการ

8. นายยงยุทธ ทองสุข

แทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

กรรมการ

9. นางภาวนาฏ บุนนาค

แทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

กรรมการ

10. นายสนธิ คชวัฒน์

แทนเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กรรมการ

11. นางอินจิรา นิยมธูร

แทนปลัดกรุงเทพมหานคร

กรรมการ

12. นายสุคนธ์ เจียสกุล

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

กรรมการ

13. ศ.(พิเศษ)เรวัติ ฉ่ำเฉลิม

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

กรรมการ

14. นายสมชาย ตู้แก้ว

แทนอธิบดีกรมอนามัย

กรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการผู้ไม่มาประชุมเนื่องจากติดราชการ/ภารกิจ

15. อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง

กรรมการ

16. นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

กรรมการ

17. นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย

กรรมการ

18. นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

กรรมการ

19. ศ.ดร.สุนีย์ มัลลิกะมาลย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

กรรมการ

20. ศ.พิชิต สกุลพราหมณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

กรรมการ

ผู้เข้าร่วมประชุม

1. นายไพโรจน์ สันตนิรันดร์

ผอ.กองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กทม.

2. นายจตุพร สังข์ทอง

นิติกร 4 เทศบาลเมืองบ้านบึง

3. น.ส.บัวทิพย์ ลิ้มภักดี

เจ้าพนักงานธุรการ เทศบาลเมืองบ้านบึง

ผู้เข้าร่วมประชุม (ต่อ)

 

4. นางนภพรรณ นันทพงษ์

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ

5. น.ส.อังคณา คงกัน

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ

6. นายโสภณ หมวดทอง

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ

7. นายสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม

8. น.ส.ชมพูนุช คงสุขเลิศ

นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ

9. นางสุรางค์ ศรีบุญเรือง

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กองสุขาภิบาลชุมชนฯ

10. นายสุชาติ สุขเจริญ

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ

11. นางพรพรรณ ไม้สุพร

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

12. นางสุวรรณา จีรโภคากุล

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

13. นางวิไลวรรณ มาเจริญทรัพย์

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

14. น.ส.วิภา รุจิจนากุล

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

15. นายสุพจน์ อาลีอุสมาน

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

16. นายเจนวิทย์ วิทยเดช

นิติกร ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

17. นายศุภชัย เครือเมฆ

พนักงานพิมพ์ดีดชั้น 3 ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

18. นายพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล

นายกสมาคมสนามกอล์ฟไทย

19. นายบัณฑูร ชุณหสวัสดิกุล

เลขานุการสมาคมสนามกอล์ฟไทย

20. นายสมโภชน์ กาญจนาภรณ์

ผู้ทรงคุณวุฒิ สมาคมสนามกอล์ฟไทย

21. นางสุนันทา สมบุญธรรม

กรรมการ สมาคมสนามกอล์ฟไทย

22. นายธนัญ โสรัจจ์

กรรมการ สมาคมสนามกอล์ฟไทย

23. นายสมจิต ทองเผือก

ผู้เชี่ยวชาญด้านบำรุงรักษาสภาพแวดล้อม สมาคมสนามกอล์ฟไทย

เริ่มการประชุมเวลา 13.45 น.

วาระที่ 1 เรื่องประธานแจ้งที่ประชุมทราบ

ประธานการประชุม(นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย)แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ประธานคณะกรรมการสาธารณสุขติดราชการสำคัญ จึงได้มอบหมายให้อธิบดีกรมอนามัยทำหน้าที่ประธานการประชุม และอธิบดีกรมอนามัยได้มอบให้ผู้อำนวยการศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข(นายสมชาย ตู้แก้ว)ทำหน้าที่เลขานุการการประชุมแทน

มติคณะกรรมการฯ รับทราบ

/วาระที่ 2........

วาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการสาธารณสุข ครั้งที่ 53-1/2552

แก้ไขหน้าที่ 1 บรรทัดที่ 2 คำว่า “แทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ”

แก้ไขเป็น “อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ”

มติคณะกรรมการฯ รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 53-1/2552

วาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง

ประธานการประชุมหารือต่อที่ประชุมว่า ขอให้เลื่อนวาระที่ 3.3 ตามระเบียบวาระการประชุมขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับแรกเพื่อให้คณะกรรมการฯได้รับฟังคำชี้แจงและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสมาคมสนามกอล์ฟไทย ต่อกรณีที่ขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

มติคณะกรรมการฯ เห็นชอบตามที่ประธานฯเสนอ

3.1 เรื่องสมาคมสนามกอล์ฟไทยขอให้พิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการสนามกอล์ฟเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ความเป็นมา

สืบเนื่องจากสมาคมสนามกอล์ฟไทยได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสาธารณสุขขอให้พิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง กิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นกิจการ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และประธานคณะกรรมการสาธารณสุขได้แจ้งให้ฝ่ายเลขาฯเชิญผู้แทนจากสมาคมสนามกอล์ฟไทยเข้าร่วมชี้แจงในการประชุมคณะกรรมการสาธารณสุขในครั้งนี้ด้วย ซึ่งนายกสมาคมสนามกอล์ฟไทยได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงความจำเป็นที่ขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เนื้อหาสรุปได้ดังนี้

1. กิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นกิจการที่ส่งเสริมกีฬาและสุขภาพให้แก่คนทุกเพศทุกวัย เป็นกีฬาที่ได้รับการส่งเสริมและยอมรับจากทั่วโลก

2. กิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและนำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก

3. กิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟช่วยสร้างอาชีพและก่อให้เกิดการจ้างงาน ไม่น้อยกว่า 100,000 ตำแหน่ง

4. สนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟส่งเสริมสภาพสิ่งแวดล้อมในทางบวกเป็นเหมือนสวนสาธารณะและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์จำนวนมาก

5. สนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย แต่ละแห่งมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชน้อยกว่าการทำการเกษตรอย่างอื่นในอัตราเนื้อที่ที่เท่ากัน มีการเก็บสำรองน้ำไว้ใช้เอง ไม่ได้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะหรือแย่งน้ำจากเกษตรกร

/6. การกำหนด........

6. การกำหนดให้กิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีการนำเสนอข่าวไปทั่วโลก ส่งผลกระทบด้านลบต่อภาพลักษณ์ของกิจการ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มาใช้บริการ รายได้ของประเทศลดลง

7. หากยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องดังกล่าว จะทำให้ภาพลักษณ์ของการประกอบกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟดีขึ้น สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย ซึ่งการยกเลิกสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาเพราะเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ความเห็นที่ประชุม

คณะกรรมการฯ ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง พอสรุปได้ดังนี้

1. กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมีที่มาจากกิจการที่น่ารังเกียจตามพรบ.สาธารณสุข พ.ศ.2484 และเมื่อมีการยกร่างพรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ”กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ซึ่งจากการประชุมพิจารณาทบทวนกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อปี พ.ศ. 2551 คณะกรรมการฯที่เข้าประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่า กิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ควรเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นเพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นต้องแก้ไขในตัวกฎหมายซึ่งต้องมีกระบวนการดำเนินงานหลายขั้นตอน ใช้เวลามาก และขณะนี้ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก

2. กิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นกิจการที่มุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพแต่ต้องมีการควบคุมกำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้อำนาจตามมาตรา 32 แห่งพรบ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกำหนดประเภทกิจการและหลักเกณฑ์เงื่อนไขควบคุมดูแลกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในท้องถิ่นของตน แต่ข้อเท็จจริงในขณะนี้คือ ท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่ได้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว

3. เหตุผลในการเสนอให้ยกเลิกการประกอบกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟออกจากกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพยังมีข้อขัดแย้งทางวิชาการ เนื่องจากผลการศึกษาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่า กิจการสนามกอล์ฟมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเรื่องการใช้น้ำ การใช้สารเคมี การใช้สารกำจัดแมลง ฯลฯ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเพื่อกำหนดให้กิจการสนามกอล์ฟเป็น 1 ใน 17 ประเภทที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง และหากจะยกเลิกการประกอบกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟออกจากกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพควรพิจารณากิจการประเภทอื่นด้วย เช่น การประกอบกิจการประเภทรำวง รองเง็ง เป็นต้น

4. ลักษณะการประกอบกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน โดยสนามกอล์ฟส่งผลกระทบในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนสนามฝึกซ้อมกอล์ฟส่งผลกระทบทางด้านเหตุรำคาญ จึงเสนอให้พิจารณาแยกกัน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ(ศ.พิเศษเรวัติ ฉ่ำเฉลิม) ได้ให้ข้อสังเกตต่อที่ประชุมว่า การใช้กฎหมายจะต้องสนับสนุนการพัฒนาประเทศ หากมีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมแล้วผู้เสียหายสามารถร้องต่อศาลปกครอง

/ให้ยกเลิก............

ให้ยกเลิกกฎหมายนั้นได้ ซึ่งการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมดูแลกิจการใดๆจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสามารถควบคุมการประกอบกิจการนั้นได้จริงหรือไม่ มีความเหมาะสมและมีกฎหมายอื่นที่ควบคุมอยู่แล้วหรือไม่ ซึ่งโดยปกติกีฬากอล์ฟไม่น่าจะเกิดอันตราย เว้นแต่เล่นโดยไม่ถูกวิธี

มติคณะกรรมการฯ

เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการพิจารณาและตัดสินใจของคณะกรรมการสาธารณสุขจึงสมควรให้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาผลกระทบต่อสุขภาพจากกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ โดยมอบหมายให้นายสุคนธ์ เจียสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานและมีผู้แทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะอนุกรรมการด้วย มีระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน ให้นำกรอบของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพมาเป็นแนวทางในการทำงาน และแยกประเด็นการพิจารณากิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟออกจากกัน

3.2 การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดให้การประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ความเป็นมา

ฝ่ายเลขาฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญกรมอนามัยเข้าร่วมพิจารณาแก้ไขปัญหาการให้บริการข้อสัญญาและการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาของสถานบริการออกกำลังกาย (ฟิตเนส) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก กรมอนามัยได้รายงานถึงการดำเนินงานในส่วนของกรมอนามัย โดยมีกรอบการดำเนินงานและระยะเวลา ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รายงานว่าอยู่ระหว่างดำเนินการให้กิจการสถานบริการออกกำลังกายเป็นกิจการที่ต้องควบคุมสัญญา เพื่อมิให้เกิดการหลอกลวงหรือเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการเห็นว่าการดำเนินงานทั้งในส่วนของกรมอนามัยและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและสำนักอัยการสูงสุดร่วมทำประกาศในเรื่องการดำเนินงานของสถานบริการออกกำลังกายที่มีการทำสัญญากับผู้บริโภคต้องมีเนื้อหา ข้อกำหนดเงื่อนไขอะไรบ้าง รวมถึงข้อมูลจากกรมอนามัยเกี่ยวกับมาตรฐานที่จำเป็นของสถานบริการออกกำลังกายเพื่อแจ้งประชาชนโดยเร็วที่สุด และในวันที่ 2 เมษายน 2552 คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอนามัยให้พิจารณาดำเนินการ 2 ข้อดังนี้

1) ให้กรมอนามัยในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข 2535 เร่งผลักดันให้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดให้การประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

2) เร่งผลักดันและประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐานของสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยส่วนรวม ตลอดจนเพื่อเป็นการกำหนดให้สถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายมีมาตรฐานซึ่งต้องได้รับรองมาตรฐานจากหน่วยงานของรัฐ

/กองออกกำลังกาย..........

กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ประจำปี 2552 โดยมีแผนการดำเนินงานดังนี้

1) ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ มาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกาย จำนวน 3 ครั้ง

- ครั้งที่ 1/2552 วันที่ 9 ธันวาคม 2551

- ครั้งที่ 2/2552 วันที่ 19 พฤษภาคม 2552

- ครั้งที่ 3/2552 เดือนสิงหาคม 2552

2) จัดจ้างสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ อันเกิดจากการให้บริการของสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

3) จัดทำเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ คู่มือเกณฑ์มาตรฐานของสถานประกอบกิจการฯ และเอกสารคู่มือประชาชนในการเลือกใช้บริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

สำหรับความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯ มีดังนี้

1) การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ มาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกาย ครั้งที่ 2/2552 วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 ณ ห้องประชุมกองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ผลการประชุมโดยสังเขป ดังนี้

1.1) อนุกรรมการที่เข้าร่วมประชุม จำนวน 22 คน โดยมีนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุม

1.2) ที่ประชุมรับรองข้อแนะนำมาตรฐานสำหรับสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ 5 ด้าน ได้แก่ มาตรฐานด้านสถานที่หรือตัวอาคารและห้องออกกำลังกาย มาตรฐานด้านอุปกรณ์และเครื่องมือออกกำลังกาย มาตรฐานด้านสมาชิกและการบริการสมาชิก มาตรฐานด้านบุคลากรผู้ให้บริการ มาตรฐานด้านความปลอดภัยและขั้นตอนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

1.3) ที่ประชุมมีมติ ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการสาธารณสุข เพื่อประกาศให้สถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากการจ้างสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากการให้บริการของสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมาประกอบการพิจารณา

1.4) ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะการสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาศักยภาพสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพต่อเนื่องระยะเวลาประมาณ1-2 ปี โดยลักษณะการขับเคลื่อนโครงการเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับพันธมิตรและเครือข่ายสถานประกอบกิจการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อเผยแพร่ข้อแนะนำให้สถานประกอบกิจการนำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพและร่วมกันจัดทำเกณฑ์มาตรฐานที่ได้ประโยชน์ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการ และหากสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ(ฟิตเนส)จะควบคุมตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้เลือกเฉพาะมาตรฐานที่จำเป็นในประเด็นที่เป็นสาธารณะและมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ที่กฎหมายไม่สามารถยกเว้นให้ได้

/1.5) ที่ประชุมมอบหมาย ……..

1.5) ที่ประชุมมอบหมายให้กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ พิจารณาคัดเลือกและยกร่างมาตรฐานที่จำเป็นที่จะประกาศเป็นมาตรการด้านกฎหมายพร้อมแนวทาง การติดตามประเมินผลและให้นำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

2) การจัดจ้างสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากการให้บริการของสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย ได้ดำเนินการทำสัญญาจัดจ้างสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพฯ โดยทางมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้อาจารย์สิทธา พงษ์พิบูลย์ และอาจารย์ฉัตรชัย มะสุนสืบ เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลโดยสอบถามจากผู้ใช้บริการสถานประกอบกิจการและผู้ประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จและรายงานผลภายในเดือนสิงหาคม 2552

ประเด็นเสนอเพื่อพิจารณา

เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสาธารณสุขเพื่อทราบ

ความเห็นของที่ประชุม

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ(ศ.พิเศษเรวัติ ฉ่ำเฉลิม)ได้ให้ข้อสังเกตต่อที่ประชุมในกรณีนี้ว่า ควรพิจารณาให้ชัดเจนว่าการออกกำลังกายเป็นอันตรายหรือไม่ หรือเป็นอันตรายเพราะมีคนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก เพราะการเล่นกีฬาทุกประเภทย่อมไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพเว้นแต่เล่นไม่ถูกวิธี ฉะนั้น การควบคุมควรอยู่ตรงไหนจึงจะเหมาะสม

มติคณะกรรมการฯ รับทราบการดำเนินงานตามที่เสนอ

3.3 การจัดทำคำแนะนำคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

ความเป็นมา

ฝ่ายเลขาฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การประชุมคณะกรรมการสาธารณสุข ครั้งที่ 53-1/2552 วันที่ 28 มกราคม 2552 วาระที่ 4.1.1 ข้อหารือของกรุงเทพมหานคร เรื่อง การประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ที่ประชุมมีมติว่าการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 5/2538 เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กิจการที่ 3(19) การผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภค และให้อนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์มาตรฐานกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จัดทำร่างคำแนะนำในเรื่องดังกล่าวเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสาธารณสุข นั้น

กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัยได้จัดทำร่างข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตน้ำดื่มโดยตู้หยอดเหรียญเรียบร้อยแล้วและได้นำมาจัดทำร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเด็น คือ 1) นิยาม

/2) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับ............

2) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้ง 3) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณลักษณะของตู้น้ำ 4) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับแหล่งน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ 5) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพมาตรฐานน้ำบริโภค 6) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบำรุงรักษาและการทำความสะอาด 7) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบันทึกและการรายงาน

ประเด็นเสนอเพื่อพิจารณา

คณะกรรมการสาธารณสุขจะเห็นชอบกับร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอหรือมีความเห็นเป็นประการอื่นใด

ความเห็นที่ประชุมฯ

คณะกรรมการฯได้เสนอความเห็นในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง พอสรุปเนื้อหาได้ดังนี้

1. ให้แก้ไขเนื้อหาในร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ดังนี้

1) ข้อที่ 2.1 และ 2.2 คำว่า “ควร” ให้เปลี่ยนเป็น “ต้อง”

2) ข้อ 3.3 ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “หัวจ่ายน้ำและส่วนที่สัมผัสน้ำต้องทำจากวัสดุที่ใช้กับอาหารเท่านั้น (Food Grade) และหัวจ่ายน้ำต้องสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร

3) ข้อ 4.1 ให้ตัดคำว่า “พอสมควร” ออก

4) ข้อ 6.4 ให้เพิ่มคำว่า “หรือเมื่อพบผลการตรวจผิดปกติเกินมาตรฐาน”

5) คำว่า “หลักเกณฑ์” ที่ปรากฏในร่างคำแนะนำเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติจริงหรือไม่

ส่วนข้อเสนออื่นๆ เช่น ระยะห่างจากถนน ความสูงของหัวจ่ายน้ำ วิธีการควบคุมคุณภาพน้ำ การบำรุงรักษาและการรักษาความสะอาด การควบคุมไฟฟ้า ฯลฯ ให้ไปกำหนดรายละเอียดในคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับผู้ประกอบการ

2. การออกประกาศว่ากิจการใดเป็นอันตรายต่อสุขภาพจะต้องมีการจัดทำคำแนะนำและคู่มือการปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ (Code of Practice) เพื่อให้ราชการส่วนท้องถิ่นนำไปใช้เป็นแนวทางออกข้อกำหนดกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทั่วไปสำหรับผู้ประกอบกิจการปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลสภาพหรือสุขลักษณะ ตามมาตรา 32 (2) ของพรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และอาจใช้เป็นข้อกำหนดในการขอต่ออายุใบอนุญาตด้วย โดยมอบให้เป็นหน้าที่ของสำนักวิชาการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการและจะต้องมีการวางแผนว่าจะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังราชการส่วนท้องถิ่นได้อย่างไรต่อไป

3. การควบคุมคุณภาพน้ำบริโภคมีประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งใช้อำนาจตามพรบ.อาหาร พ.ศ.2522 ควบคุมอยู่แล้ว แต่การควบคุมการประกอบกิจการจะต้องอาศัยอำนาจตามพรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วจะต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันจึงจะควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งในกรณีนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ(ศ.พิเศษเรวัติ ฉ่ำเฉลิม) ได้ให้ข้อสังเกตว่า โดยปกติแล้วการออกกฎหมายแต่ละฉบับจะเสริมกัน เพราะผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานที่ใช้กฎหมาย อาจเป็นเพราะ

/ไม่เข้าใจ..............

ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย จึงควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำความเข้าใจและดำเนินงานไปด้วยกัน

มติคณะกรรมการฯ

ที่ประชุมมีมติรับร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางการควบคุมตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และมอบหมายให้กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย จัดทำคู่มือการปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการด้วย

วาระที่ 4 เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา

เนื่องจากเวลาการประชุมได้ล่วงเลยไปมาก ฝ่ายเลขาฯเสนอต่อที่ประชุมว่า ให้ถอนวาระที่ 4.1 การพิจารณาร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. ...... ไปในการประชุมคราวต่อไป และให้เลื่อนวาระที่ 4.2 ขึ้นมาพิจารณาแทนวาระที่ 4.1

มติคณะกรรมการฯ เห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขาฯ เสนอ

4.1 การแก้ไข/เพิ่มเติมคำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ

ความเป็นมา

ฝ่ายเลขาฯได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า หน่วยงานในกรมอนามัยได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปฏิบัติงานภายในหน่วยงาน ส่งผลให้คณะอนุกรรมการเดิมไม่สอดคล้องกับผู้รับผิดชอบที่เปลี่ยนแปลงใหม่ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรแก้ไข/เพิ่มเติมคำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 2 คณะ โดยการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะอนุกรรมการให้สอดคล้องเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน ดังนี้

4.1.1 คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรฐานวิชาการที่ใช้ในการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย และอัตราค่าธรรมเนียมในการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จำนวนองค์ประกอบเดิม 25 คน จำนวนองค์ประกอบใหม่ 23 คน

4.1.2 คณะอนุกรรมการพิจารณายกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร จำนวนองค์ประกอบเดิม 28 คน จำนวนองค์ประกอบใหม่ 28 คน

ประเด็นเสนอเพื่อพิจารณา

คณะกรรมการสาธารณสุขจะเห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอหรือมีความเห็นเป็นประการอื่นใด

ความเห็นที่ประชุมฯ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ(นายสุคนธ์ เจียสกุล) เสนอต่อที่ประชุมว่า ควรให้คณะอนุกรรมการและคณะทำงานแต่ละชุดที่ได้รับการแต่งตั้งต้องรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการสาธารณสุขทุกครั้ง

มติคณะกรรมการฯ

เห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขาฯเสนอ และให้บรรจุเรื่องการรายงานความก้าวหน้าของคณะอนุกรรมการและคณะทำงานชุดต่างๆ เป็นวาระประจำ

/วาระที่ 5..............

วาระที่ 5 เรื่องเพื่อทราบ

5.1 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ (แก้ไข/เพิ่มเติม)

ความเป็นมา

ตามมติการประชุมคณะกรรมการสาธารณสุข ครั้งที่ 53-1/2552 เมื่อวันพุธที่ 28 มกราคม 2552 เห็นชอบให้แก้ไข/เพิ่มเติมคำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 9 ฉบับ ดังนี้

1) คำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข ที่ 1/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

2) คำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข ที่ 2/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ

3) คำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข ที่ 3/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

4) คำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข ที่ 4/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเสนอข้อเท็จจริงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

5) คำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข ที่ 5/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรฐานวิชาการที่ใช้ในการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย และอัตราค่าธรรมเนียมในการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

6) คำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข ที่ 6/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์ มาตรฐานกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

7) คำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข ที่ 7/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ มาตรฐาน กิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

8) คำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข ที่ 8/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและมาตรการในการควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

9) คำสั่งคณะกรรมการสาธารณสุข ที่ 9/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการได้แจ้งให้สำนัก/กองวิชาการที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการทราบแล้ว

มติคณะกรรมการ รับทราบตามที่ฝ่ายเลขาฯเสนอ

วาระที่ 6 เรื่องอื่นๆ

ไม่มี

ปิดการประชุม เวลา 16.45 น.

นายสุพจน์ อาลีอุสมาน บันทึกรายงานการประชุม

นายสมชาย ตู้แก้ว ตรวจรายงานการประชุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำแนะนำในการแสดงความคิดเห็น

เชิญให้ความคิดเห็นได้ครับ
แล้วกรุณา ลงชื่อท่านใต้ข้อความของท่านด้วยนะครับ
แล้วเลือก แสดงความคิดเห็นในฐานะ
เป็นประเภท "ไม่ระบุชื่อ"
ท่านจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้