...

รับว่าความ คดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง คดีทั่วไป รับทำบัญชี ทั่วราชอาญาจักร
ติตต่อ เบอร์โทร 0-2513-1833
แฟกซ์ 0-2930-2752
อีเมล์แอดเดรส
sutthirojlaw@hotmail.com

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาผลกระทบจากกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

การศึกษาผลกระทบจากกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

โดย นางพรพรรณ ไม้สุพร นักวิชาการสาธารณสุข 7 ว

นางนัทฐ์หทัย ไตรฐิ่น นักวิชาการสาธารณสุข 7 ว

นางวิไลวรรณ มาเจริญทรัพย์ นักวิชาการสาธารณสุข 7 ว

ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย

1. บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้สืบเนื่องจากสมาคมสนามกอล์ฟไทยได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า ได้รับความเดือดร้อน ไม่เป็นธรรมและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา รวมทั้งการส่งเสริมกีฬากอล์ฟ จากการบังคับใช้ของกฎหมาย 2 ฉบับ คือ 1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 5/2538 ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งกำหนดให้กิจการสนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ 2) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 กำหนดให้สนามกอล์ฟเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนกฎหมายดังกล่าวด้วยนั้น

กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการสาธารณสุขจึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ

พิจารณาทบทวนประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพศึกษาเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อหาข้อสรุปว่ากิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยทำการศึกษาจากเอกสาร ผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จากการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เจ้าของหรือผู้จัดการ แค้ดดี้ พนักงาน ผู้รับบริการ ครูฝึก และประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ตลอดจนการเก็บข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง รวม 9 จังหวัด ผลการศึกษาพบว่า กิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟมีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ตลอดจนทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงและผลกระทบจากการใช้สารเคมีในสนามกอล์ฟซึ่งในต่างประเทศพบว่ามีการใช้สารเคมีจำนวนมากและหลายชนิด จากปุ๋ยยาฆ่าแมลง และยาปราบศัตรูพืช ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ให้บริการ ผู้รับริการ และผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ในด้านความคิดเห็นของผู้ประกอบกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นกิจการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพที่ควรมีการควบคุม แต่ควรเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อมิให้ขัดต่อกิจการที่เป็นการส่งเสริมการออกกำลังกาย

โดยมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการสาธารณสุขว่า การประกอบกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟก่อให้เกิดผลกระทบทางบวก โดยเฉพาะสุขภาพอนามัยและความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆรวมทั้งผลทางเศรษฐกิจ การสร้างงานแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดังนั้นกิจการนี้จึงจำเป็นต้องถูกควบคุมเพื่อให้มีการดำเนินการที่ได้มาตรฐานและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ สังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ทั้งนี้ควรเปลี่ยนชื่อ “กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” เป็น “กิจการที่ต้องควบคุมเพื่อคุ้มครองสุขภาพ” แทน เพื่อสื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่าจำเป็นต้องควบคุม แต่ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้น่ากลัวอันตราย หรือมองไปในทางลบทั้งหมด

2. บทนำ

สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข แจ้งรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ กรณีที่สมาคมสนามกอล์ฟไทยได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกีฬาว่าได้รับความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมอันเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ

1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 5/2538 ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งกำหนดให้กิจการสนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ

2) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่

4) พ.ศ. 2546 กำหนดให้สนามกอล์ฟเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยได้สรุปว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดสภาพ

ความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการสนามกอล์ฟ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและส่งเสริมกิจการสนามกอล์ฟ กีฬากอล์ฟ และนโยบายสนับสนุนส่งเสริมกิจการการท่องเที่ยวของรัฐบาล จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนกฎหมายดังกล่าว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิจัยสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟว่าเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยไปใช้ประกอบในการแก้ไขกฎหมายต่อไป ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี(นายจาตุรนต์ ฉายแสง) และรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) มีบัญชาให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลัง พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วรายงานให้คณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทราบต่อไปด้วย นั้น

กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการสาธารณสุขได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ

พิจารณาทบทวนประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำหน้าที่พิจารณาทบทวนแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 5/2538 เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทุกกิจการ รวมทั้งศึกษาเป็นการเร่งด่วน กรณีกิจการสนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟว่าควรจะประกาศยกเลิกการเป็นกิจการที่ต้องควบคุมในลักษณะกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ และคณะอนุกรรมการฯได้มอบหมายให้กลุ่มบริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย ศึกษาผลกระทบของกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ เพื่อประกอบในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ

3. วัตถุประสงค์

1. เพื่อหาข้อสรุปว่ากิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นกิจการที่เป็นอันตราย

ต่อสุขภาพหรือเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่

2. เพื่อรายงานผลการศึกษาให้คณะกรรมการสาธารณสุข คณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา

และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทราบ

4. วิธีการดำเนินงาน

ในการศึกษาผลกระทบของกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ว่าเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่นั้น ได้ใช้คำนิยามของคำว่า “กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” เป็นกรอบในการกำหนดแนวทางการศึกษา ทั้งนี้โดยศึกษาเพื่อหาข้อมูลว่ากิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟเป็นการให้บริการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ให้บริการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่นั้น หรือมีผลกระทบต่อผู้รับบริการ หรือผลกระทบต่อประชาชน ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นคณะผู้ศึกษาจึงได้กำหนดขอบเขตการศึกษาเป็น 4 ส่วน คือ 1) ศึกษาผลกระทบต่อผู้ให้บริการ 2) ศึกษาผลกระทบต่อผู้รับบริการ 3) ศึกษาผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ และ 4) ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในการศึกษาครั้งนี้มีข้อจำกัด คือ เนื่องจากมีระยะเวลาและงบประมาณจำกัด จึงได้ศึกษาข้อมูลจากสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง โดยใช้วิธีการสอบถามด้วยแบบสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพ แต่ข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีและการใช้น้ำนั้น ต้องศึกษาด้วยวิธีการอื่นเพิ่มเติม ในที่นี้จึงได้ใช้วิธีการทบทวนจากเอกสารเป็นหลัก

4.1 พื้นที่ศึกษา

สำรวจเก็บข้อมูลสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ รวม 22 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดนครนายก

4.2 เครื่องมือศึกษา

เก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการจัดทำแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้อง และการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อมูลผลกระทบจากกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ดังนี้

1) ศึกษาผลกระทบต่อผู้ให้บริการ โดยการสอบถามข้อมูลจากเจ้าของหรือผู้จัดการสนามกอล์ฟ

และสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ แค้ดดี้ พนักงาน

2) ศึกษาผลกระทบต่อผู้รับบริการ โดยการสอบถามข้อมูลผู้มาใช้บริการโดยตรง และมีข้อมูล

ทางอ้อมโดยการสอบถามเจ้าของหรือผู้จัดการ แค้ดดี้ และพนักงานอื่นๆ

3) ศึกษาผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ โดยการสอบถามข้อมูลจาก

ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ และมีข้อมูลทางอ้อม โดยการสอบถามจากเจ้าของหรือผู้จัดการ แค้ดดี้ และพนักงานอื่น ผู้ใช้บริการ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะกรณีเหตุเดือดร้อนรำคาญจากกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

4) การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้จากการสอบถามเจ้าของหรือผู้จัดการ ถึงการใช้

สารเคมี การใช้น้ำ และผลกระทบอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังได้ทบทวนเอกสารเพื่อหาข้อมูลผลกระทบต่อกลุ่มต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อประกอบการพิจารณาอีกด้วย

4.3 กลุ่มตัวอย่าง

ได้สำรวจเก็บข้อมูลสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ 22 แห่ง แบ่งเป็น สนามกอล์ฟ 10 แห่ง และสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ 12 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัด โดยการสอบถามข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ดังต่อไปนี้

1) สอบถามผู้ให้บริการแห่งละประมาณ 23 คน รวม 263 คน ประกอบด้วย

(1) เจ้าของหรือผู้จัดการ แห่งละ 1 คน เก็บข้อมูลได้ 22 คน(จาก 22 แห่ง)

(2) แค้ดดี้ แห่งละประมาณ 10 คน เก็บข้อมูลได้ 124 คน (เฉพาะสนามกอล์ฟ 10 แห่ง)

(3) พนักงานอื่นๆ (เช่น คนสวน พนักงานเสิร์ฟ พนักงานขาย พนักงานขับรถกอล์ฟ

พนักงานซ่อมบำรุงรถกอล์ฟ) แห่งละประมาณ 10 คน ซึ่งเก็บข้อมูลได้ 111 คน (จาก 22 แห่ง)

(4) ครูฝึก แห่งละประมาณ 1-2 คน ซึ่งเก็บข้อมูลได้เพียง 6 คน(เฉพาะสนามกอล์ฟ 10 แห่ง)

2) สอบถามผู้รับบริการ แห่งละประมาณ 3-5 คน ซึ่งเก็บข้อมูลได้เพียง 48 คน(จาก 22 แห่ง)

3) สอบถามประชาชนที่อยู่รอบสนามกอล์ฟและบริเวณใกล้เคียงแห่งละประมาณ 5 คน (หลังคาเรือนละ

1 คน) ซึ่งเก็บข้อมูลได้เพียง 10 คน (เฉพาะสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ 12 แห่ง และเนื่องด้วยขณะเข้าไปสัมภาษณ์

ไม่พบผู้อยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวจึงเก็บข้อมูลได้เพียง 10 หลังคาเรือนๆละ 1 คน รวม 10 คน)

4) สอบถามข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 20 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ในเรื่องการออกข้อกำหนดของท้องถิ่น การอนุญาตประกอบกิจการ การตรวจตราดูแล การเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และเรื่องร้องเรียนจากกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

5. ผลการศึกษา

ผลจากการศึกษา พบว่า

1) ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ

กิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟยังมีส่วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของ

ผู้รับบริการและผู้ให้บริการในการได้รับบาดเจ็บที่เกิดจากลูกกอล์ฟและการตีกอล์ฟมากเกินไป(ผู้ตีกอล์ฟได้รับบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย 5 คน/46 คน (ร้อยละ 10.87) และเห็นผู้ตีกอล์ฟคนอื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียทรัพย์สินเสียหาย 9 คน/46 คน (ร้อยละ 19.57) ผู้ให้บริการได้รับบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย 39 คน/241 คน (ร้อยละ 16.18)และเคยเห็นผู้ให้บริการคนอื่นได้รับบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย 61 คน/241 คน(ร้อยละ 25.31) ทั้งจากการสัมภาษณ์ สอบถาม และจากข้อมูลของอาจารย์ครอบจักร งามมีศรี ซึ่งเป็นคดีความที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และจากข้อมูลการบาดเจ็บจากการตีกอล์ฟมากเกินไปของอาจารย์วีระยุทธ เชาวน์ปรีชา โรงพยาบาลวิภาวดี ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนที่รัฐควรเข้ามาควบคุมกำกับดูแล

2) ผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ

2.1) ข้อมูลจาการสัมภาษณ์ประชาชนที่อยู่รอบสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ จำนวน 4

แห่ง ที่มีบ้านอยู่ติดกับสนามกอล์ฟและระหว่างที่เข้าไปสัมภาษณ์พบมีผู้อยู่อาศัย โดยสัมภาษณ์หลังคาเรือนละ 1 คน รวม 10 คน พบว่าผู้ที่อยู่อาศัยใกล้สนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟบางส่วนได้รับผลกระทบจากลูกกอล์ฟ ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เช่น หลังคา กระจกบ้าน และรถยนต์ (ผู้ตอบแบบสอบถาม 7 หลัง คิดเป็นร้อยละ 70) ทรัพย์สินของตนได้รับความเสียหาย ส่วนอีก 3 หลัง (ร้อยละ 30) ให้ข้อมูลว่า ทรัพย์สินของเพื่อนบ้านได้รับความเสียหาย

2.2) ข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าจากการตรวจแนะนำสถานประกอบการ มี 2 แห่งที่ลูกกอล์ฟลอยข้ามแผงกั้นออกไปนอกสนามทำความเสียหายให้กับรถยนต์และบ้านที่อยู่โดยรอบ และเคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน 8 แห่ง ได้แก่ เรื่องลูกกอล์ฟโดนหลังคาบ้าน กระจกรถยนต์ที่ขับผ่านมาแตก และเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำคลองสาธารณะและชุมชน การเผาขยะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ควันไฟและฝุ่นละออง เป็นต้น

3) ผลกระทบจากการใช้สารเคมีในสนามกอล์ฟ

ในการศึกษาครั้งนี้ไม่ปรากฏผลเด่นชัดเนื่องจากเป็นการสัมภาษณ์ สอบถามและค้นคว้าจาก

เอกสารในเวลาสั้นๆ แต่จากผลของการศึกษาในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา พบว่า มีการใช้สารเคมีจำนวนมากและหลายชนิด จากปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และยาปราบศัตรูพืช ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง

4) ความคิดเห็นของผู้ประกอบกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพควรมีการควบคุม แต่ควรเปลี่ยนชื่อใหม่

เพื่อไม่ให้ขัดต่อกิจการที่เป็นการส่งเสริมการออกกำลังกาย ร้อยละ 61.11 และเห็นว่ากิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ไม่ควรเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร้อยละ 38.89

5) ข้อมูลการควบคุมการประกอบการกิจการสนามกอล์ฟของต่างประเทศ

การประกอบกิจการสนามกอล์ฟในต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หลายฉบับ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของคนทำงาน กฎหมายควบคุมการใช้

สารเคมี เป็นต้น

ในสหรัฐอเมริกา ผู้ประกอบการสนามกอล์ฟต้องขอใบอนุญาตซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และ

ใบอนุญาตใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และจะมีการตรวจตราและควบคุมการใช้สารเคมีตามกฎหมาย The Federal

Insecticides, Fungicide and Rodenticide Act. ซึ่งในแต่ละรัฐอาจมีการควบคุมเพิ่มเติม เช่น

Vermont Regulation for Control of Pesticide ส่วนในรัฐแมรี่แลนด์กำลังจะออกกฎหมายเกี่ยวกับการปรับปรุง

พื้นที่ที่จะทำสนามกอล์ฟจำเป็นต้องประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อน โดยให้เหตุผลว่า สนามกอล์ฟมีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงค่อนข้างสูง และใช้ในลักษณะของการรักษาสถานที่ให้เขียวชอุ่มตลอดเวลา

โดยสรุปการประกอบกิจการสนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟก่อให้เกิดผลกระทบทางบวก โดยเฉพาะด้านสุขภาพอนามัยและความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆรวมทั้งผลทางเศรษฐกิจ การสร้างงานแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดังนั้นกิจการนี้จึงจำเป็นต้องถูกควบคุมเพื่อให้มีการดำเนินการที่ได้มาตรฐานและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ สังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ทั้งนี้ควรเปลี่ยนชื่อ “กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” เป็น “กิจการที่ต้องควบคุมเพื่อคุ้มครองสุขภาพ” แทน เพื่อสื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่าจำเป็นต้องควบคุม แต่ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้น่ากลัวอันตราย หรือมองไปในทางลบทั้งหมด

6. การนำไปใช้ประโยชน์

ผลจากการศึกษาครั้งนี้จะใช้เป็นข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการสาธารณสุข คณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาว่ากิจการดังกล่าวเป็นกิจการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เห็นควรที่จะคงอยู่หรือยกเลิกจากการเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข

7. ความยุ่งยากในการดำเนินงาน/ปัญหา/อุปสรรค

ในการศึกษาครั้งนี้มีข้อจำกัด คือ เนื่องจากมีระยะเวลาและงบประมาณจำกัด จึงได้ศึกษา

ข้อมูลจากสนามกอล์ฟ และสนามฝึกซ้อมกอล์ฟที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง และใช้วิธีสอบถามด้วยแบบสัมภาษณ์ ซึ่งจะได้ข้อมูลตามความคิดเห็น ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีและการใช้น้ำก็ศึกษาด้วยการทบทวนจากเอกสารเป็นหลัก โดยมิได้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตลอดจนมีความยุ่งยากในการไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการให้ข้อมูล หรือการตรวจสอบสารเคมีที่ใช้ เป็นต้น

8. ข้อเสนอแนะ

เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการประกอบกิจการสนามกอล์ฟแลสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ คณะผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะดังนี้

1) เงื่อนไขสำคัญของการควบคุมการประกอบกิจการนี้ ควรเน้นหนักที่ให้มีการใช้สารเคมีกำจัด

ศัตรูพืชอย่างถูกวิธี

2) ควรมีมาตรฐานด้านสถานที่เพื่อเป็นการป้องกันอันตราย เช่น ควรตั้งอยู่ห่างจากชุมชน และ

ไม่ควรตั้งอยู่ในเขตเมือง แต่หากมีความจำเป็นควรมีแผงตาข่ายกั้นและมีการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ เป็นต้น

3) ควรจัดให้มีห้องปฐมพยาบาลขั้นต้นที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติอยู่บริการ

ตลอดเวลาที่สนามเปิดให้บริการและควรจัดทำแผนฉุกเฉินรองรับกรณีมีอันตรายร้ายแรงและจำเป็นต้องส่งรักษาโดยเร่งด่วน

4) ทุกสนามควรจัดอบรมให้กับผู้ให้บริการทุกคน ให้ความรู้ในเรื่องกฎกติกาเกี่ยวกับกีฬา

กอล์ฟสำหรับการปฏิบัติงานครั้งแรก และมีการอบรมทบทวนความรู้เป็นประจำ รวมทั้งต้องมีสวัสดิการประกันสังคมให้กับพนักงานทุกคนด้วย

5) สนามกอล์ฟควรมีกฎกติกาที่เข้มงวด โดยมีการกำหนดระดับความสามารถและทักษะของ

ผู้ที่จะออกรอบ

9. กิตติกรรมประกาศ

การศึกษาครั้งนี้ จะสำเร็จลุล่วงมิได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากคณะอนุกรรมการทบทวนประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กองสุขาภิบาลชุมชนและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ที่ให้ข้อเสนอแนะและร่วมในการเก็บข้อมูล รวมทั้งความกรุณาของ นายศุมล ศรีสุขวัฒนา หัวหน้ากลุ่มบริหารกฎหมายสาธารณสุข และ นางสาวสิริวรรณ จันทนจุลกะ ผู้อำนวยการกองสุขาภิบาลชุมชนและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งได้ให้คำปรึกษาและให้กำลังใจมาโดยตลอด จึงขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้

10. เอกสารอ้างอิง

ครอบจักร งามมีศรี , Case Study : กรณีศึกษาปัญหาวงการกีฬากอล์ฟ “ คดีความ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในกีฬากอล์ฟที่น่าสนใจ” http://www.smartgolf.co.th/NO.31-Page.42(1).html 30 June 2005.

ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน , วิทยาศาสตร์น่ารู้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi3/who/golf.htm 29 June 2005.

นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา , Golf Injury : กลุ่มอาการปวดชา บริเวณข้อศอก นิ้วนาง นิ้วก้อย ( Cubital Tunnel Syndrome ) http://smartgolf.co.th/NO.35-Page.62(1).html 30 June 2005.

“ Threats to Water Quality Posed by the Proposed PGA Village Development”.

http://www.nopga.com/pages-water quality.htm 14 July 2005.

Attorney General of New York , New York State , Office of New York State Attorney General

Environmental Protection Bureau. “Toxic Fairways:Risk Groudwater Contamination from

Presticides on Long Island Golf Courses”. http://www.oag.state.ny.us/environment/golf95.html 7 July 2005.

“Sport and Environment:Thailand’s Golf Boom”. http://www.cenotes.com/save/ingles/thailand.html

13 July 2005

Chris Syrengelas. “Golf and the Environment”.

http://darwin.bio.uci.edu/-sustain/global/sensem/syrengelas97.html. 13 July 2005.

11. การเผยแพร่

1) นำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการสาธารณสุข คณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

2) เผยแพร่ทางเว็บไซด์ของกลุ่มบริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย

3) เผยแพร่ในวารสารอนามัยสิ่งแวดล้อม ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม – กันยายน 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำแนะนำในการแสดงความคิดเห็น

เชิญให้ความคิดเห็นได้ครับ
แล้วกรุณา ลงชื่อท่านใต้ข้อความของท่านด้วยนะครับ
แล้วเลือก แสดงความคิดเห็นในฐานะ
เป็นประเภท "ไม่ระบุชื่อ"
ท่านจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้